พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu
[ #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ : วิกฤติ หรือ โอกาส ในมือของกระทรวงศึกษาธิการ ]
.
ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 30 พฤศจิกายน ต่อเนื่องถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2563 กระแสของ #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ ได้ทำให้เกิดข้อถกเถียงมากมายในสังคมไทย
.
ไม่ว่าจะเห็นด้วย หรือ เห็นต่าง ต่อการที่นักเรียนกลุ่มหนึ่งสวมชุดไปรเวทไปโรงเรียน แต่สิ่งที่ทุกคนน่าจะเห็นตรงกัน คือเหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ของการศึกษาไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่กฎระเบียบซึ่งอยู่คู่กับโรงเรียนไทยมายาวนาน ถูกตั้งคำถามและท้าทาย “ความศักดิ์สิทธิ์”
.
ในมุมหนึ่ง ผมเข้าใจความห่วงใยของผู้ใหญ่หลายคนที่เห็นว่าเครื่องแบบยังมีประโยชน์ แต่อีกมุมหนึ่ง ผมต้องขอแสดงความนับถือนักเรียนกลุ่มนี้เช่นกันที่กล้าแสดงออกในสิ่งที่คิด
.
ในเมื่อวันหนึ่งอนาคตของประเทศไทยจะอยู่ในมือของคนรุ่นใหม่ ผมคิดว่าการพยายามเข้าใจความคิดของพวกเขา (แม้ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม) น่าจะเป็นประโยชน์กว่าการปักธงปฏิเสธตั้งแต่เริ่มต้น
.
สำหรับเรื่องนี้ ผมคิดว่ามี 4 ประเด็นที่สำคัญ
.
1. เครื่องแบบไม่ใช่แค่เสื้อผ้า แต่คือสัญลักษณ์ของการต่อสู้
.
นักเรียนกลุ่มนี้มองว่าพวกเขาเป็นประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งรัฐธรรมนูญให้การรับรองสิทธิในชีวิตและร่างกาย ดังนั้น ตราบใดที่ไม่ได้ละเมิดสิทธิคนอื่น พวกเขาย่อมแต่งกายอย่างไรก็ได้ตามที่ต้องการ
.
การคงระเบียบว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียนอย่างเข้มงวด โดยไม่มีคำอธิบายที่เหมาะสมกับยุคสมัยว่าสวมชุดนักเรียนแล้วทำให้การเรียนหนังสือดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร นอกจากจะทำให้นักเรียนบางส่วนต่อต้าน ยังอาจทำให้ครูจำนวนไม่น้อยใช้เวลาเยอะเกินไปกับการจับผิดและจัดการคนทำผิดกฎระเบียบ จนเสียเวลาที่ควรให้แก่การสอน รวมถึงเปิดช่องให้เกิดการลงโทษนักเรียนที่มีแนวโน้มรุนแรงเกินเหตุ เช่น โรงเรียนแห่งหนึ่งที่ออกประกาศทำนองว่า หากนักเรียนคนใดแต่งไปรเวทไปเรียน อาจถูกไล่ออก
.
2. ทั้ง 2 จุดยืน ต่างมีข้อดี-ข้อเสีย
.
ประเด็นที่ฝ่ายสนับสนุนให้บังคับสวมเครื่องแบบ กับ ฝ่ายที่ต่อต้านการบังคับสวมเครื่องแบบ ยกขึ้นมาบ่อยครั้ง มีประมาณ 3 ข้อ
.
i.ความเหลื่อมล้ำ : เครื่องแบบทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีการเปรียบเทียบหรือแข่งขันเรื่องการแต่งกาย VS ต่อให้สวมเครื่องแบบเหมือนกัน แต่ความเหลื่อมล้ำในสังคมก็ยังมีอยู่จริง และแสดงออกผ่านสิ่งอื่นได้ เช่น อุปกรณ์เครื่องเขียนใหม่ๆ ราคาแพง
.
ii.ค่าใช้จ่าย : สวมเครื่องแบบช่วยลดค่าใช้จ่าย รัฐสนับสนุน ได้สิทธิส่วนลดจากขนส่งสาธารณะ VS ทุกคนสวมชุดไปรเวทในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว (ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเลยไม่มี ถ้าใส่มาเรียนได้) บางโรงเรียนเมื่อเลื่อนชั้นก็ต้องซื้อเครื่องแบบใหม่ หรือมีหลายเครื่องแบบ (เช่น ชุดลูกเสือ ชุดเนตรนารี) เท่ากับมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
.
iii.ความปลอดภัย : หากสวมชุดนักเรียน สังคมจะช่วยสอดส่องดูแลความปลอดภัย VS นักเรียนหลายคนเปิดเผยว่าเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศทั้งที่สวมเครื่องแบบ และความจริงแล้ว ความปลอดภัยควรเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนในสังคมได้รับ โดยไม่ผูกกับเครื่องแต่งกายหรือไม่
.
เพื่อให้หาข้อสรุปกันได้ว่านักเรียนในปัจจุบันต้องการแต่งตัวอย่างไรไปโรงเรียน เราจำเป็นต้องทำข้อที่ 3
.
3. ทดลองผ่อนปรน
.
เนื่องจากปัจจุบัน กฎระเบียบเรื่องการแต่งกายยังไม่ได้รับการแก้ไข นักเรียน 2 กลุ่มที่เลือกแต่งกายต่างกัน จึงได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ทำให้เราไม่สามารถรู้ได้ว่านักเรียนส่วนใหญ่ อยากใส่ชุดแบบไหนไปเรียน
.
นักเรียนที่สวมเครื่องแบบ สามารถเข้าโรงเรียนได้โดยไม่มีปัญหา ในขณะที่นักเรียนแต่งไปรเวท ยังต้องกังวลว่าครูจะมีปฏิกิริยาอย่างไร จะได้เข้าโรงเรียนหรือถูกตัดเกรดหรือไม่
.
บรรทัดฐานที่ต่างกันเช่นนี้ ไม่มีทางให้ความจริงกับเราได้ว่าอะไรคือความต้องการของเด็กส่วนใหญ่กันแน่
.
ดังนั้น เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความรู้สึกปลอดภัยและไว้วางใจ กระทรวงศึกษาธิการควรพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ใช้เหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการทดลองผ่อนปรน ให้นักเรียนแต่งกายตามที่พวกเขาต้องการ โดยอาจกำหนดระยะเวลาของการทดลองและประเมินผลลัพธ์ร่วมกันระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้องในภายหลัง
.
4. ปลายทางของข้อเรียกร้อง คือสิทธิในการเลือก
.
ผมค่อนข้างกังวลที่ผู้มีอำนาจบางคนแสดงความเห็นว่าการประนีประนอมในเรื่องนี้ คือการอนุญาตให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวทได้ 1 ครั้งต่อสัปดาห์หรือ 1 ครั้งต่อเทอม
.
เพราะนั่นแสดงว่าผู้มีอำนาจไม่ได้เข้าใจข้อเรียกร้องที่แท้จริงของนักเรียน ว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการ ไม่ใช่การบอกว่าทุกคนต้องใส่ หรือ ไม่ใส่ชุดนักเรียน และไม่ใช่การบอกให้โรงเรียน “อนุญาต” ให้สวมชุดไปรเวทได้สัปดาห์ละกี่วัน
.
สิ่งที่พวกเขาต้องการจริงๆ คือสิทธิเสรีภาพในการแต่งกาย เขาต้องการเลือกเอง ไม่ใช่ให้โรงเรียนหรือกระทรวงศึกษาธิการมาเลือกให้
.
ดังนั้น แทนที่จะถามว่าโรงเรียนจะออกกฎระเบียบแบบไหน อาจต้องถามว่า โรงเรียนจำเป็นต้องออกกฎระเบียบหรือไม่ หรือควรปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของนักเรียนได้ ตราบใดที่ไม่เกินขอบเขตความเหมาะสม
.
สำหรับบทบาทที่ผมคิดว่าโรงเรียนสามารถทำได้ในสถานการณ์นี้ คือการวางกรอบให้นักเรียนเห็นเป็นแนวทาง (ถ้าจำเป็นจริงๆ) เช่น กำหนดข้อตกลงให้ชัดเจนว่าการแต่งกายต้องสุภาพ
.
ท้ายที่สุด เมื่อกฎข้อนี้ถูกยกเลิกไป ถ้านักเรียนทุกคนตัดสินใจใส่ชุดนักเรียนทั้งหมดเลย ทุกคนก็ยอมรับได้ เพราะเป็นการตัดสินใจของพวกเขาเอง
.
เมื่อมองด้วยสายตาของผู้ใหญ่ อาจเห็นว่าสิ่งที่นักเรียนกลุ่มนี้ทำ เป็นความใจร้อน เอาแต่ใจ ไม่มีวินัย
.
แต่ด้วยความเคารพ ผมคิดว่าต่อให้เราไม่พูดถึงกฎการแต่งกาย นักเรียนในระบบการศึกษาไทยที่ผ่านมา ก็แทบจะเลือกอะไรไม่ได้เลยด้วยซ้ำ
.
ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงศึกษาธิการให้มีการผ่อนปรนเรื่องเครื่องแบบ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นวันนี้หรือเมื่อวาน แต่ยาวนานหลายปี ดังนั้น การที่กระทรวงบอกว่าเป็นสิทธิของแต่ละโรงเรียนที่จะออกมาตรการ โดยไม่พยายามเข้าไปเป็นผู้นำหรือร่วมพิจารณาให้รวดเร็ว นักเรียนอาจมองได้ว่ากระทรวงไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา และผลักให้เขาต้องออกมาเรียกร้องนอกระบบ
.
สำหรับโลกยุคใหม่ ที่การสร้างวินัยไม่ใช่แค่การทำตามกฎระเบียบ แต่เป็นเรื่องของความรับผิดชอบ
.
ถ้าเราเชื่อจริงๆ ว่าระบบการศึกษาที่ดีจะปลูกฝังวินัยแก่นักเรียนได้ ผมก็คิดว่า “ผู้ใหญ่ที่เป็นตัวอย่างที่ดี” จะปลูกฝังวินัยและแบบอย่าง (ที่ไม่ใช่แค่การทำตามกฎ แต่คือการมีความรับผิดชอบ) ให้นักเรียนซึมซับได้ดีกว่า
.
นี่เป็นโอกาสแสดงความจริงใจและการเป็นตัวอย่างที่ดีครั้งสำคัญของผู้ใหญ่ในวงการการศึกษา ว่าจะดำเนินการเพื่อผ่อนคลายสถานการณ์อย่างไร
.
จะแค่ได้ยิน ได้เห็น แล้วปล่อยให้เงียบหาย หรือมองด้วยสายตาที่ยาวไกลว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนแปลง
.