กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนแรงที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอยู่บนโลกออนไลน์ และถูกชาวเน็ตแชร์ออกไปเป็นจำนวนมากอยู่ในขณะนี้ หลังจากสมาชิกผู้ใช้
เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้ออกมาเผยเรื่องราวของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.อุบลราชธานี ซึ่งคุณครูท่านหนึ่งสั่งให้เรียนที่เรียนออนไลน์ ถ่ายรูปตัวเองเคารพธงชาติที่บ้านหน้าทีวี ตอนเวลา 08.00 น. โดยสั่งผ่านทางแชตข้อความ และผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวได้ระบุข้อความด้วยว่า
“แชต จากสถาบันศึกษาแห่งหนึ่ง (สถานศึกษาเก่าผม) ให้เคารพธงชาติหน้าทีวี ผมอยากจะขำดังๆ ไม่ทราบว่าอาจารย์ยืนตรงหน้าทีวีทุกวันหรือป่าวครับ เคารพธงชาติต้องถ่ายภาพด้วย แบบว่าใครไม่ยืนทำความเคารพ ก็จะไม่ได้เช็กชื่ออะไรแบบนี้น่ะหรอ?
ในมุมผมนะไม่ยืนตรงเคารพเพลงชาติไม่ผิดกฎหมาย การรักชาติไม่จำเป็นต้องยืนเคารพ มันเป็นอะไรที่ล้าหลังมากถึงมากที่สุด เอาตรงครับไร้สาระสิ้นดี ครูก็ต้องมานั้งดูอีกว่าใครทำไม่ทำ เผลอๆ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเช็กชื่อ หรือ คะแนนเด็ก หยุดทำให้เด็กเขารักชาติในแบบผิดๆ ครับ การศึกษาไทยยิ่งทำยิ่งล้าหลัง #จังหวัดอุบลราชธานี #รุ่นน้องส่งให้ดู”
อย่างไรก็ตามภายหลังเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปเป็นสาธารณะ ก็เรียกกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากชาวเน็ตได้อย่างมากมาย โดยชาวเน็ตจำนวนมากต่างพากันเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลายและร้อนแรง
ล่าสุด นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีโลกออนไลน์แชร์ข้อความแชตครูในจังหวัดอุบลราชธานี สั่งให้นักเรียนถ่ายรูปขณะยืนเคารพธงชาติหน้าโทรทัศน์ในระหว่างการเรียนออนไลน์ ว่า เรื่องนี้มีมุมมองได้หลากหลายมิติ เพราะคำสั่งของครูอาจเป็นการสร้างข้อตกลงในห้องเรียนระหว่างครูและนักเรียนในการเรียนออนไลน์ เพื่อสร้างระเบียบวินัย หรือวีธีการหนึ่งที่จะทำให้เด็กรู้จักความรับผิดชอบในการเข้าเรียนในห้องเรียนออนไลน์ตามเวลาที่ครูกำหนด ซึ่งประเด็นนี้อาจเป็นตัวชี้วัดหนึ่งระหว่างครูและนักเรียนในห้องเรียนก็ได้ แต่ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่ได้มีข้อสั่งการให้มีแนวปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ แต่ให้อยู่ตามความเหมาะสมของครูและโรงเรียน ซึ่งก็อาจเป็นการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาให้เด็กมาสนใจเรียนออนไลน์
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวไม่มีข้อถูกหรือผิด แต่อยากมองให้อย่างหลากหลาย เพราะเป็นข้อตกลงในห้องเรียนร่วมกับผู้เรียนทุกคน แต่หากเป็นข้อสั่งการภายหลังที่ไม่ได้อยู่ในข้อตกลงร่วมกันในห้องเรียนก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมได้