ที่สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ตัวแทน 3 สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และ สมาคมสันนิบาตเทศบาล แห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) นำโดย นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา, นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี แถลงข้อเรียกร้องจากมติที่ประชุม ขับเคลื่อนภารกิจตามอำนาจหน้าที่ ของ อปท. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อเสนอไปยังรัฐบาล
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ในฐานะนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์เรื่อง ข้อเสนอขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส Covid-19 ความว่า กราบเรียน นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในนามของ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ได้เห็นสภาพของปัญหาตลอดจนได้มีโอกาสรับฟังปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนในท้องถิ่น ตลอดระยะเวลาของการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID – 19 ครั้งที่ 3 ที่ผ่านมานั้น รู้สึกมีความกังวลและห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้ง 3 สมาคม ได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน จนกระทั่งได้มาซึ่งข้อสรุปในการที่จะเรียกร้องต่อท่านนายกรัฐมนตรี ใน 4 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 จัดหาชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน (Rapid Antigen test) เพื่อค้นหาเบื้องต้น ผู้ติดเชื้อที่มีอยู่ในชุมชน และเครื่องตรวจ I – PCR test เพื่อตรวจหาเชื้อยืนยัน ตลอดจนจัดหาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มสมรรถนะการตรวจหาผู้ติดเชื้อทั้งในระดับจังหวัด และกรุงเทพมหานคร หรือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดซื้อชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน เพื่อตรวจให้กับประชาชนในท้องถิ่นได้ด้วย เพื่อเป็นการลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ดังเช่นจะเห็นภาพของประชาชนไปเข้าคิวรอการตรวจเชื้อตั้งแต่ในช่วงกลางคืนเพื่อรอการตรวจเชื้อในวันรุ่งขึ้น
ประเด็นที่ 2 ขอเรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตการนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด- 19 ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับต่อการแปรเปลี่ยนของสายพันธุ์ไวรัสที่มีการแปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็วมากขึ้น ขณะเดียวกันขั้นตอนการขออนุมัติในการนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งในเชิงของการตรวจคุณภาพตลอดจนขั้นการรับรอง ขอให้ลดระยะเวลาในการอนุมัติให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งถือว่าสถานการณ์ขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่ฉุกเฉินจำเป็นจะต้องแข่งกับเวลาและทุกสิ่งที่สามารถกระทำได้
ประเด็นที่ 3 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงพยาบาลเอกชน สามารถจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 วัคซีนทางเลือกได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นจะต้องจัดซื้อจากหน่วยงานที่ ศบค.กำหนด ทั้งนี้เพื่อให้การนำเข้าวัคซีนทางเลือกสามารถที่จะนำเข้ามาได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันขอให้องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศการรับรองวัคซีนทางเลือกที่อนุญาตให้นำเข้าตลอดจนกำหนดราคากลางเพื่อเป็นมาตรฐานในการจัดซื้อให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนโรงพยาบาลเอกชนให้สิทธิและความเป็นอิสระในการจัดซื้อเป็นของโรงพยาบาลเอกชน
ประเด็นที่ 4 ขอให้ออกระเบียบรองรับในการฉีดวัคซีนป้องกัน โควิด-19 แก่ประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ ทั้งนี้ โดยข้อเท็จจริงในองค์กรปกครองท้องถิ่นหนึ่งๆ นั้น จะต้องมีประชากรแฝงที่เข้ามาอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะมาศึกษา ประกอบอาชีพ หรือมารับจ้างแรงงาน แม้กระทั่งแรงงานต่างด้าว ซึ่งแรงงานต่างด้าวเหล่านี้อยู่ในพื้นที่มีโอกาสเป็นพาหะแพร่เชื้อให้คนในท้องถิ่น เพราะฉะนั้นแนวนโยบายของ ศบค. ในการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันประชาชนจากการติดเชื้อ อีกนัยหนึ่ง ก็ต้องการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะฉะนั้น การเร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่หนึ่งๆให้มากกว่า 70 % จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องกระทำ โดยเปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่อาศัยในท้องถิ่นไม่เฉพาะเจาะจงประชาชนที่มีทะเบียนบ้านอาศัยในท้องถิ่น หรือจังหวัดนั้นๆ
พวกเราจึงหวังว่าข้อเสนอทั้ง 4 ข้อนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วิกฤตการณ์ครั้งนี้คลี่คลายลง และหวังว่ารัฐบาลจะนำข้อเสนอนี้ไปพิจารณาอย่างเที่ยงธรรมบนพื้นฐานบนประโยชน์สูงสุดของประชาชน
.