วันนี้ (31 พ.ค.2564) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท ซึ่งมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย.นี้ โดยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 มีการปรับลดลงจากงบประมาณปี 2564 ถึง 185,962 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.66
เมื่อเวลา 11.30 น.นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2565 ว่า จากตัวเลขงบปี 2565 วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลเสนอมา เหมือนสิ่งที่คาดหวังไว้ เป็นเรื่องตรงกันข้ามที่คาดหวัง เพราะพี่น้องซัฟเฟอร์มากเรื่อง COVID-19
“รัฐบาลเสนองบฯ เหมือนกับว่าไม่มีเหตุการณ์ร้ายกับประเทศ ทั้งที่ไทยกำลังเผชิญภาวะโรคระบาด ยังไม่เห็นงบฯ หรือกำหนดยุทธศาสตร์แนวทางการคุม COVID-19 หมายความว่าการควบคุมสถานการณ์ไม่ชัดเจน และมองว่าแผนงานขาดเอกภาพ”
นายสมพงษ์ ระบุว่า กระทรวงกลาโหมมีงบฯ มากกว่ากระทรวงสาธารณสุขกว่า 50,000 ล้านบาท ทั้งที่กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องดูแลประชาชนในการต่อสู้กับ COVID-19 ไทยกำลังต่อสู้กับโรค แต่รัฐบาลผลักดันงบฯ จำนวนมากกับอาวุธยุทโธปกรณ์ รัฐจะเอายุทโธปกรณ์ไปต่อสู้กับโรคหรืออย่างไร
ทั้งนี้นายสมพงษ์ ยังตั้งคำถามว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้ยินเสียงพี่น้องประชาชนที่ร้องระงมว่าเรากำลังอยู่ในสภาพที่เลวร้ายที่สุด หรือท่านมีศักยภาพที่จะบริหารเพียงแค่นี้ ไม่ได้สนใจว่าพี่น้องเดือดร้อนแค่ไหน หรืออาจแค่คิดว่าให้รักษาอำนาจในรัฐบาล เพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกพ้อง และรัฐกำลังจัดทำงบคนละทิศคนละทาง ตนคิดว่ารัฐบาลกำลังจัดทำงบประมาณฉบับที่อยู่บนโลกคนละใบกับประชาชน ไม่อยู่บนโลกของความเป็นจริง
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ลุกขึ้นชี้แจงระบุว่า งบฯ ด้านการจัดการ COVID-19 มีทั้งงบประมาณประจำและงบประมาณเงินกู้ต่างๆ ยืนยันว่าไม่มีปัญหา สำหรับเรื่องวัคซีนรัฐบาลดำเนินการมาตลอด ทั้งการจัดหาโดยรัฐบาล รัฐต่อรัฐ วันนี้หลายประเทศต้องการวัคซีนมากยิ่งขึ้น แต่ขณะนี้เราก็มีบริษัทที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประเทศไทย รัฐบาลมีแผนหลัก แผนรอง มาต่อเนื่อง ไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลย
ล่าสุดยังมีวัคซีนทางเลือก ยืนยันเดือน มิ.ย.จะมีวัคซีนเพียงพอ ทั้งที่รัฐบาลจัดสรรและวัคซีนทางเลือก แต่ทั้งหมดต้องนำเข้าผ่านช่องทางรัฐต่อรัฐ
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นงบฯ กลาโหมมากกว่าสาธารณสุขไม่เป็นความจริง เพราะกระทรวงสาธารณสุขนอกจากงบประมาณในกระทรวงแล้ว ยังมีงบประมาณอีก 3 กองทุน ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข คือ สปสช. กองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน และกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย เมื่อรวมแล้วงบประมาณกระทรวงสาธารณสุขในภาพรวมเป็น 295,681 ล้านบาท เมื่อเทียบปี 64 ลดลงเพียง 5,930 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7 และงบฯ กระทรวงกลาโหม 2 ปีที่ผ่านมา ปรับลดงบฯ กว่า 10,000 ล้านบาทในแต่ละปี
ขณะที่ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย (ภท.) อภิปรายว่า การจัดทำงบประมาณครั้งนี้เป็นการทำงบที่ไม่ให้เกียรติพี่น้องประชาชน เพราะในสถานการณ์โควิด-19 สำนักงบประมาณตัดงบของกระทรวงสาธารณสุข ลงแทบทุกกรมทุกส่วน ทั้งที่สถานการณ์โควิด-19 คนที่ดูแลประชาชนคือสาธารณสุข ท่านบอกว่าจะไปใช้งบกลางก็เป็นเรื่องที่ทำได้ลำบาก เปรียบเหมือนส่งทหารไปรบแต่ไม่ให้อาวุธ ไม่ให้สิ่งอำนวยความสะดวกไปด้วย แล้วท่านคิดว่าศึกนี้จะชนะหรือ แบบนี้คือการจัดงบที่ไม่สนใจความรู้สึกประชาชน ไม่นึกถึงคนที่ทำงานอยู่ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย งบกระทรวงสาธารณสุข 4 หมื่นล้านบาท ถือว่าน้อยนิด สิ่งสำคัญคือเบี้ยเลี้ยงเสี่ยงภัยของแพทย์ 6 พันกว่าล้านบาท ตั้งแต่โควิดรอบแรกจนวันนี้ท่านยังไม่เบิกจ่ายให้เขา แล้วแบบนี้จะอยู่กันอย่างไร ท่านทำให้ประชาชน คนทำงานเจ็บปวด ทั้งนี้ ตนอยากให้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และสำนักงบประมาณ ไปโรงพยาบาลรัฐบ้างว่าวันนี้ยังขาดแคลนอะไรบ้าง ในสถานการณ์โควิดท่านยังตัดแม้แต่งบแพทย์ปฐมภูมิ ที่ต้องดูแลประชาชนโดยตรง ท่านตัดตรงนี้ถือว่าใจดำมาก ตนอยากให้สภาพัฒน์พิจารณา และดูบทบาทหน้าที่ตัวเองใหม่ เพราะแทนที่ท่านจะทำหน้าที่วิเคราะห์แนะนำรัฐบาล แต่กลับมาพิจารณางบเสียเอง
“หรือสำนักงบประมาณคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่รักนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เสียแล้ว ท่านถึงได้ตัดงบประมาณแบบนี้ ตนก็อยากจะบอกว่า หัวหน้าครับถ้าเขาไม่รักก็กลับบ้านเราเถอะ”