วันนี้ (9 พ.ย.) ศาลฎีกานัดพิจารณาคดีครั้งแรก คดีหมายเลขดำที่ คมจ.1/2564 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนใน จ.ราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม
โดยวันนี้ น.ส.ปารีณา เดินทางมาพร้อมนายทิวา การกระสัง ทนายความ ซึ่ง ป.ป.ช.ผู้ร้องขอให้ศาลวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านสามารถทำหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในขณะที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ตามคำร้องได้หรือไม่
องค์คณะผู้พิาพากษาเสียงข้างมากเห็นว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร การทำหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งของ ส.ส. ดังนั้น เมื่อผู้คัดค้านยังเป็น ส.ส. แต่อยู่ระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการได้
ส่วนที่ผู้คัดค้าน ขอให้ศาลส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ป.ป.ช.ไต่สวนคดีนี้โดยไม่ผ่านมติกรรมาธิการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฏร เป็นมติที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่าข้อห้ามตามคำร้องไม่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ จึงไม่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อีกทั้งข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ไม่ตัดอำนาจ ป.ป.ช.ที่จะเสนอข้อเท็จจริง จึงยกคำร้องในส่วนนี้
ส่วนการนัดตรวจหลักฐาน ผู้ร้องขอส่งพยานหลักฐาน 58 อันดับ และขอนำพยานบุคคลเข้าไต่สวน 12 ปาก ขณะที่ผู้คัดค้านขอส่งพยานหลักฐาน 18 อันดับ พร้อมขอไต่สวนพยานบุคคล 10 ปาก ศาลสอบถามคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วไม่โต้แย้ง องค์คณะผู้พิพากษาเห็นควรให้ไต่สวนพยานตามที่ทั้งสองฝ่ายแถลง ให้คู่ความทำบันทึกยืนยันข้อเท็จจริงส่งให้ศาลไม่น้อยกว่า 14 วัน ศาลกำหนดนัดไต่สวนพยานวันที่ 8, 22, 28 ก.พ.2565 และวันที่ 1-3, 8, 10 มี.ค.2565 เวลา 09.30-16.30 น. และนัดพิพากษาวันที่ 7 เม.ย.2565 เวลา 10.30 น.
ภายหลังนายทิวา การกระสัง ทนายความ น.ส.ปารีณา กล่าวว่า ศาลนัดพร้อม คดี คมจ.ที่ 1/2564 ซึ่งถือเป็นคดีแรกเกี่ยวกับเรื่องความผิดจริยธรรมนักการเมือง ซึ่งศาลพิจารณาคำร้อง 2 คำร้อง คือ คำร้องแรก ที่ป.ป.ช.ยื่นว่าคุณปารีณา ไม่สามารถทำหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญงบประมาณ 2565 ได้ เนื่องจากถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส่วนคำร้องที่ 2 เป็นคำร้องที่คุณปารีณา ผู้คัดค้าน ยื่นคำร้องต่อศาลว่าที่ป.ป.ช. ไต่สวนจริยธรรม โดยไม่ผ่านกรรมาธิการว่าด้วยจริยธรรม หรือคณะกรรมาธิการจริยธรรมของรัฐสภา เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ศาลวินิจฉัย คำร้องแรก ผู้คัดค้านซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่สามารถทำหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญได้ ประเด็นนี้มีข้อโต้แย้งว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 139 บัญญัติว่า คณะกรรมการวิสามัญนั้น สภาสามารถตั้งส.ส.หรือบุคคลภายนอกก็ได้ แต่กรรมาธิการสามัญนั้น จะตั้งส.ส.เป็นกรรมาธิการสามัญไม่ได้ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรตีความว่า กรรมธิการสามัญสามารถตั้งบุคคลภายนอกได้ และตั้งส.ส.ที่ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ เช่นกรณีของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นคนแรกที่ปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการงบประมาณ เมื่อปี 2562-2563 ได้ ซึ่งกรณีของคุณปารีณาสามารถเทียบเคียงกับกรณีนี้ได้เช่นเดียวกัน และที่ผ่านมาไม่เคยมีศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลฎีกาวินิจฉัยในประเด็นนี้ ดังนั้นการปฏิบัติหน้าของคุณปารีณา ในการปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการงบประมาณ ถือว่ามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ดังนั้น จึงเป็นบรรทัดฐานว่า ต่อไปนี้ ผู้ที่เป็นส.ส.ซึ่งถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ จะไม่สามารถทำหน้าที่กรรมาธิการทั้งสามัญและวิสามัญ
ส่วนประเด็นที่ 2 ศาลวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญไม่ตัดอำนาจของ ป.ป.ช.ที่จะไต่สวนคดีจริยธรรมโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภาก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ศาลกำหนดให้ไต่สวนหรือ สืบพยานในช่วง เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2565 โดยไต่สวนผู้ร้องและผู้คัดค้าน ขั้นตอนจะเป็นการตรวจพยานเอกสาร พยานบุคคลและทำบันทึกข้อเท็จจริงว่าพยานแต่ละปากเกี่ยวข้องกับประเด็นที่จะสืบพยานอย่างไร มีประเด็นข้อต่อสู้คดีอย่างไร ยื่นต่อศาลก่อนวันนัดสืบพยานไม่น้อยกว่า 14 วัน
เมื่อถามว่าถ้าอยากทราบประเด็นการปฎิบัติหน้าที่กรรมาธิการงบประมาณปี 2565 มีผลสมบูรณ์หรือไม่จะต้องทำอย่างไร
นายทิวา ทนายความ กล่าวว่า ต้องไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยน่าจะเป็นองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาสามารถดำเนินการยื่นได้ เพื่อวินิจฉัยว่า การที่สภาผู้แทนราษฎรยกมืออนุญาตให้น.ส.ปารีณา เป็นกรรมาธิการวิสามัญ ทำให้การทำหน้าที่ดังกล่าวมีผลไม่สมบูรณ์หรืองบประมาณปี 2564-2565 เป็นโมฆะบังคับไม่ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่อาจก้าวล่วงได้ เมื่อยังไม่มีการตีความก็ยังถือว่างบประมาณปี 2565 มีความสมบูรณ์
ด้าน น.ส.ปารีณา กล่าวว่า ตนน้อมรับคำวินิจฉัยของศาล และจะเป็นบรรทัดฐานของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ตลอดไปว่า ส.ส.ที่ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว จะไม่สามารถเป็นกรรมาธิการสามัญและวิสามัญได้ ซึ่งในอดีตคือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปํจจุบันก็คือตนเอง ซึ่งคำวินิจฉัยก็จะผูกพันทุกองค์กร เป็นบรรทัดฐานใหม่ ที่เราจะต้องปฏิบัติตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป แต่ถึงแม้จะถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ยังคงเป็นส.ส.และปกติที่ผ่านมาก็ได้ลงพื้นที่ดูแลพี่น้องประชาชนอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว