รายการข่าวฟ้ายามเย็น 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
เวลา 17.00-18.00 น. ดำเนินรายการโดย จิตกร บุษบา และ นันทิญา จิตตโสภาวดี
วันพฤหัสบดี ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2565, 11.25 น.
วันนี้ พรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์ โดยมีรายละเอียดดังนี้ เรื่อง มติรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง ส.ส.จากระบบจัดสรรปันส่วนผสมมาเป็นระบบคู่ขนานซึ่งเป็นระบบเดียวกับที่ใช้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ใน พ.ศ. 2554
การเลือกตั้งตามระบบใหม่นี้แยกการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อออกจากกัน ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบบละ 1 ใบ การคํานวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับคะแนนรวมในแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ ไม่มีการนําจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองได้รับมาพิจารณาว่าผลสุดท้ายพรรคการเมืองนั้นจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเท่าใด
ร่าง พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ทั้ง 4 ร่าง รวมทั้งร่างของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นร่างหลักในการพิจารณาในการแก้ไขมาตรา 128 แห่ง พรป.เลือกตั้งฯ ต่างก็เสนอวิธีการคํานวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมเหมือนกัน คือ ให้นําผลคะแนนรวมที่ทุกพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อหารด้วย 100 แล้วนําผลลัพธ์ไปหารคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ ผลก็คือจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง โดยไม่คํานึงว่าพรรคการเมืองจะได้ ส.ส.แบ่งเขตเท่าใด ซึ่งคณะกรรมาธิการที่รัฐสภาตั้งก็เห็นชอบกับร่างที่แก้ไข มาตรา 128 โดยไม่มีการแก้ไข
สองวันนี้มีข่าวมาตลอดว่า มีผู้มีอำนาจในรัฐบาลต้องการให้เปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งกลับไปเป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสมเพื่อสืบทอดอำนาจของตนต่อไป โดยไม่คำนึงถึงกฎหมายและข้อบังคับของรัฐสภา คำนึงแต่ความอยู่รอดและผลประโยชน์ทางการเมืองของตน วันนี้สมาชิกรัฐสภาจำนวนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในซีกรัฐบาลได้ใช้เสียงข้างมากจงใจกระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 โดยลงมติแก้ไขมาตรา 128 ตามกรรมาธิการเสียงข้างน้อย เพื่อนําระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ถูกยกเลิกโดยรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2564 กลับมาใช้ การแก้ไขเช่นนี้ขัดมาตรา 91 แห่งรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2564 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภาอย่างชัดเจน
พรรคเพื่อไทยจึงขอแถลงให้สื่อมวลชนและพี่น้องประชาชนได้ทราบถึงการใช้เสียงข้างมากกระทำการตามอำเภอใจ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ และพรรคเพื่อไทยจะดำเนินการเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นร่างมาตรา 128 ขัดรัฐธรรมนูญต่อไป และจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งความเลวร้ายเหล่านี้
ด้าน พรรคก้าวไกล นำโดยนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และส.ส.พรรคก้าวไกล ร่วมแถลงท่าทีพรรคก้าวไกล หลังที่ประชุมรัฐสภาโหวตเอาสูตรหาร 500 ในการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ
นายชัยธวัช กล่าวว่า น่าเสียใจมากกับการลงมติของรัฐสภา ที่ไม่ได้ออกแบบระบบการเลือกตั้งที่ดีแก่ประชาชน แต่เป็นการลงมติเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการสืบทอดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เพียงเท่านั้น จนนำไปสู่การโหวตที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นการลงมติที่อัปยศที่สุด ดังนั้นพรรคก้าวไกลยืนยันว่า เราไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขพ.ร.ป. และเราจะคัดค้านอย่างถึงที่สุด รวมทั้งคัดค้านระบอบการสืบทอดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ โดยจะร่วมมือกับฝ่ายประชาธิปไตยและประชาชน เพื่อให้ออกจากระบอบประยุทธ์ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตีความพล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯเกิน 8 ปี
นายชัยธวัช กล่าวว่า ส่วนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่ได้พิจารณากันตอนนี้ หากผ่านผ่านรัฐสภาไปได้ตามมาตรา 132 รัฐสภาต้องส่งให้ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งพรรคก้าวไกลจะรอดูประธานสภาฯ ยื่นให้ทั้ง 3 องค์กรพิจารณาหรือไม่ หากขัดรัฐธรรมนูญก็จะส่งกลับมาที่รัฐสภา แต่ถ้ายื่นแค่กกต.ต้องหารืออีกครั้งว่าต้องดำเนินการอย่างไร ย้ำว่าเราจะต่อสู้อย่างเต็มที่ เพื่อให้การแก้ไขร่างพ.ร.ป.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้ได้ แต่สิ่งที่กังวลที่ซ่อนไว้ คือ หากมีเจตนาสืบทอดอำนาจ จะนำไปสู่เดตล็อคไม่มีพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งรองรับหากมีการยุบสภาเกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่เราไม่อยากให้เห็น เหมือนเอาอำนาจเลือกตั้งไว้ที่พล.อ.ประยุทธ์ โดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งเราไม่รู้ว่าตอนนั้นจะเกิดอะไรขึ้น
ด้านนายปดิพัทธ์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลเรามีจุดยืนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องยึดโยงประชาชน โดยมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่จะมีความชอบธรรม เราผิดหวังกับกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงส่วนใหญ่ที่ยืนยันว่าในชั้นกมธ.มาตลอดว่า ยังไงก็ต้องหาร 100 แต่เพียงไม่กี่สัปดาห์กลับมีการเปลี่ยนทาทีของส.ว.ว่า จะเอาหาร 500 ให้ได้ ซึ่งอำนาจบริหารแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติอย่างน่าสงสัย ขณะที่ ส.ว. พยายามทุบโหวตอย่างเดียว จึงรู้สึกชัดเจนการเลือกตั้งรอบนี้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มอนุรักษ์อำนาจเดิมเท่านั้น เราจะไม่ร่วมสังฆกรรมสืบทอดอำนาจและต่อต้านอย่างถึงที่สุด
ขณะที่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ทุกคนรู้ว่าเดิมตกลงกันเป็นระบบหาร 100 แต่วันสองวันพลิกกลัย ตนสงสัยว่าที่ชอบพูดว่า ส.ว.เป็นอิสระ ไหนคือความอิสระ ขณะส.ส.ฝ่ายรัฐบาาลไปคุยกันตอนนี้ แต่เข้าใจว่าไปคุยกันที่ทำเนียบ ดังนั้นการทำหน้าทมี่ของสภาฯแห่งนี้ และส.ว. ไม่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ทำให้กลับไปใช้ระบบหาร 500 เหมือนเดิม ซึ่งเป็นตอกย้ำให้เห็นว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ และมีความพยายามสืบอำนาจอำนาจต่อไปพรรคก้าวไกลผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะไม่ใช่เป็นการออกแบบระบบการเลือกตั้งที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นการออกแบบระบบเลือกตั้งที่อยู่บนพื้นฐานใครได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งสมการตรงนี้ไม่เคยมีประชาชนอยู่ข้างในเลย เราจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อผลประโยชน์ให้ประชาชน และคืนอำนาจประชาชนเพื่อกำหนดอนาคตประเทศไทยต่อไป