รัฐฯ โต้”หญิงหน่อย”สถานะคลังมั่นคง ไม่ล้มละลาย
4 ก.พ. 64
จากกรณีที่”หญิงหน่อย”หรือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ นโยบายของรัฐบาล และฐานะการเงินการคลังที่มีความเปราะบางจนอาจนำไปสู่การล้มละลายทางการคลัง
ล่าสุดนางสาว นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก”รัชดา ธนาดิเรก – รองโฆษกรัฐบาล” โดยระบุว่า ตอบข้อวิจารณ์คุณหญิงสุดารัตน์ ที่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศมีความเปราะบางจนอาจนำไปสู่การล้มละลายทางการคลัง
..คำว่าภาวะขาดดุลทางการคลังมันต่างจากภาวะล้มละลายที่พูดถึง ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ประเทศไทยมีโครงสร้างทางการเงินการคลังที่มั่นคง ไม่ใกล้เคียงคำว่าล้มละลายแน่นอน
เรื่องนี้ อยากให้ฟังข้อมูลตัวเลขจริงจาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ดังนี้ค่ะ
จากรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคม 2563 เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นทั้งในด้านอุปสงค์จากต่างประเทศ และอุปสงค์ในประเทศ สะท้อนจากการส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ที่ร้อยละ 4.7 ต่อปี
สำนักข่าว Bloomberg ได้ประเมินมุมมองอนาคตเศรษฐกิจของไทยปี 2564 ว่าเป็นประเทศที่น่าสนใจเป็น อันดับ 1 ใน 17 ประเทศในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market Economies) สะท้อนได้จากเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง ความแข็งแกร่งในภาคการเงินระหว่างประเทศและศักยภาพในการดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ
อีกทั้ง Bloomberg ได้เผยแพร่ดัชนีประสิทธิภาพของระบบรักษาสุขภาพ (Bloomberg Heath-Efficiency Index 2020) โดยชื่นชมประเทศไทยว่าเป็นหนึ่งในสิบอันดับแรก (อันดับที่ 9) ของประเทศที่มีระบบรักษาสุขภาพที่มีประสิทธิภาพสูงเหนือกว่าอีกหลายประเทศจากกลุ่มตัวอย่าง 57 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ แสดงให้เห็นถึงระบบสาธารณสุขของไทยที่มีประสิทธิภาพสูง
การจัดเก็บรายได้รัฐบาลจะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ หากนับจากปี2557 การจัดเก็บรายได้รัฐบาลขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2,074,660 ล้านบาท เป็น 2,391,570 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.1 ต่อปี (Compound Annual Growth Rate) ส่วนปีงบประมาณ 2563 รายได้รัฐบาลที่ลดลง เนื่องจากผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย และการออกมาตรการทางภาษีเพื่อบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนและเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน สถานการณ์ทางการคลังประเทศไทยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง โดยฐานะทางการคลังมีความมั่นคงและมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ระดับเงินคงคลังยังอยู่ในระดับที่เพียงพอสามารถรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ และการดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป
ทั้งนี้ ระดับเงินคงคลังปลายงวด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ 473,001 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินคงคลังปลายงวด ณ สิ้นปีงบประมาณก่อนหน้า ถึงร้อยละ 49.5
นอกจากนี้ ในส่วนของหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 8.1 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เท่ากับร้อยละ 52.1 ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังที่กำหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 60
และหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นการนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งผลให้เกิดการจ้างงานและช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
.