วันจันทร์ ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2564, 14.05 น.
17 พ.ค.64 มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เรียกนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข พร้อมคณะแพทย์ที่ปรึกษาเข้าหารือเป็นการเร่งด่วน หลังมีการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 จำนวนมากโดยเฉพาะในเรือนจำ ซึ่งวันเดียวกันนี้ มีผู้ติดเชื้อในเรือนจำสูงถึง 6,853 ราย
หากไม่ปรับกลุ่มเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของการฉีดวัคซีน ก็ยากที่จะลดการแพร่ระบาด
เผยแพร่: 14 พ.ค. 2564 16:51 ปรับปรุง: 14 พ.ค. 2564 16:51 โดย: ผู้จัดการออนไลน์
การแพร่ระบาดของโควิดยังคงอยู่ในอัตราที่สูงระดับกว่าสองพันคนต่อวันอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันจำนวนผู้ป่วยหนักก็มีนับพันคน และมีผู้เสียชีวิตรายวันทะลุไปถึงสามสิบกว่าคนในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ส่วนแหล่งแพร่ระบาดหลักที่เคลื่อนตัวจากแหล่งบันเทิง ซึ่งถูกปิดไปแล้ว ไปสู่แหล่งชุมชน ที่มีผู้คนรวมตัวกันอยู่หนาแน่น ทั้งในชุมชนแออัด ตลาด คุก โรงงาน และสถานที่ทำงานของภาครัฐและเอกชนบางแห่ง
มาตรการเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดที่รัฐบาลดำเนินการในขณะนี้ดูเหมือนไม่อาจหยุดยั้งหรือลดการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิผลมากนัก การควบคุมอย่างเด็ดขาดเน้นแหล่งที่เป็นต้นตอที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดช่วงแรก เช่น แหล่งบันเทิง สนามกีฬา เป็นต้น แต่ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจรัฐบาลไม่กล้าใช้มาตรการควบคุมสถานที่สาธาณะอย่างเข้มงวดดังที่ทำในการระบาดครั้งแรก ดังนั้นสถานที่อย่างตลาด ศูนย์การค้า โรงงาน ก็ยังสามารถเปิดให้ดำเนินการได้ต่อไป ทางเลือกเช่นนี้ก็มีความสมเหตุสมผลพอประมาณ เพราะหากห้ามดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเข้มงวดดังที่ทำในช่วงแรก ก็จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนอย่างมหาศาล แต่ข้อด้อยคือไม่อาจหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้
แต่จุดอ่อนอย่างหนึ่งในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาของรัฐบาลคือ ยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนที่มีการกำหนดกลุ่มยุทธศาสตร์และพื้นที่ยุทธศาสตร์ไม่ค่อยเหมาะสมนัก ทำให้การฉีดวัคซีนไม่มีส่วนช่วยในการแพร่ระบาดและยังไม่สามารถบรรเทาความรุนแรงและอัตราการตายของผู้ติดเชื้อได้ ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงวันที่ ๑๓ พฤาภาคม ข้อมูลของประทรวงสาธารณสุขระบุว่า มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ ๑ แล้วจำนวน ๑,๓๗๒,๐๑๓ ราย และมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ ๒ จำนวน ๕๖๓,๕๕๒ ราย ในภาพรวมแต่ละวันกระทรวงสาธารณสุขฉีดวัคซีนได้ประมาณ ๓๕,๐๐๐ – ๔๐,๐๐๐ ราย ดังข้อมูลเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ฉีดได้ทั้งหมด ๓๗,๑๑๑ ราย เป็นวัคซีนใหม่เข็มแรก ๖,๐๒๑ ราย และเข็มที่ ๒ ๓๑,๐๙๐ ราย (https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/ ) อัตราการฉีดวัคซีนเข็มที่ ๒ สูงกว่าเข็มที่ ๑ ถึง ๕.๑๖ เท่า
กลุ่มใดบ้างที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว กลุ่มแรกสุดคือผู้บริหารประเทศ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และข้าราชการระดับสูงบางราย กลุ่มนี้เป็นผู้มีอำนาจรัฐซึ่งเป็นกลุ่มที่รัฐบาลให้สำคัญที่สุดและมีอภิสิทธิ์เหนือประชาชนทั้งปวงจึงไม่แปลกที่ได้รับการวัคซีนเป็นกลุ่มแรก ๆ ของประเทศ ถัดมาเป็นกลุ่มข้าราชการและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด ๑๙ เช่น เจ้าหน้าที่ศุลกากร ทหาร และตำรวจ ที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมโรคชายแดน บุคคลที่มีโรคประจำตัว ๗ โรค เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน เป็นต้น และผู้มีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป นอกจากกลุ่มเป้าหมายแล้ว รัฐบาลได้เลือกพื้นที่บางพื้นที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการฉีด ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจด้วย คือ จังหวัดภูเก็ต และ จังหวัดที่เลือกด้วยเหตุผลของความรุนแรงของการระบาดที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ซึ่งคือจังหวัดสมุทรสาคร
กล่าวโดยสรุป การกำหนดกลุ่มยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในระยะที่มีวัคซีนจำกัดใช้เกณฑ์ ๓ เกณฑ์ในการจำแนกกลุ่มยุทธศาสตร์ คือ ๑) เกณฑ์การดำรงตำแหน่งสำคัญของประเทศ เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สว. และ ส.ส. ๒) เกณฑ์การมีความเสี่ยงสูงต่อการรับเชื้อจากการทำงาน เช่น บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด่านหน้า และ ๓) เกณฑ์ความรุนแรงของอาการภายหลังการรับเชื้อ ได้แก่ ผู้เป็นโรคเรื้อรัง และ ผู้สูงอายุ
เมื่อพิจารณากลุ่มที่ได้รับวัคซีนจริงกับวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลเขียนได้ อันได้แก่ “ฉีดวัคซีนเพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต และรักษาระบบสุขภาพของประเทศ” และเมื่อดูการเลือกกลุ่มยุทธศาสตร์ในการฉีด มีแต่เฉพาะกลุ่มที่ผู้ป่วยเรื้อรังและผู้สูงอายุเท่านั้นที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ดังกล่าว แต่ความรุนแรงของโรคมีฐานคิดจากการใช้ข้อมูลเดิมในการระบาดครั้งแรก สำหรับการระบาดครั้งที่สามนั้นข้อมูลอัตราป่วยตายจำแนกตามอายุที่ทันสมัยยังไม่เผยแพร่สู่สาธารณะ แต่เรามักได้ยินข่าวบ่อยครั้งว่าผู้เสียชีวิตมีอายุน้อยลง เมื่อเข้าไปดูข้อมูลในเว็บไซด์ https://www.hfocus.org ของวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ปรากฎว่ามีข้อมูลอัตราการป่วยตายที่มีการจำแนกอายุถึงวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๖๔ เท่านั้น
ที่น่าสนใจคือ รัฐบาลไม่ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการฉีดวัคซีนว่า “เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค” แต่อย่างใด เรื่องนี้ต้องพิจารณาเพราะความเข้าใจของคนทั่วไปเกี่ยวกับวัคซีนคือ เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ความเข้าใจเช่นนี้มีมาอย่างยาวนาน และบริษัทผลิตวัคซีนเองก็ได้นำมาเป็นประเด็นหลักในการอ้างถึงสรรพคุณของวัคซีนในยามที่สื่อสารกับสาธารณะเช่น ฉีดแล้วมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยละ ๙๐ บ้าง ร้อยละ ๘๐ บ้าง เป็นต้น ดังนั้นหากรัฐบาลเชื่อมั่นว่าวัคซีนที่นำมาฉีดให้ประชาชนดีจริง รัฐบาลต้องกำหนดให้ “การลดการแพร่ระบาด” เป็นวัตถุประสงค์หลักประการหนึ่ง แต่เมื่อไม่มั่นใจก็ต้องหาเรื่องอื่นออกมาชูโรง นั่นคือ การลดความรุนแรงและการตาย ซึ่งดูเหมือนว่าวัคซีนเกือบทุกยี่ห้อจะมีสรรพคุณแบบนี้
อย่างไรก็ตามสองเดือนที่ผ่านมาของการฉีดวัคซีน ดูเหมือนไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ดังเห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงนับวันจะเพิ่มขึ้น จนมีจำนวนเป็นพันกว่าราย ตัวเลขวันที่ ๑๓ พ.ค. ของกระทรวงสาธารณสุขคือ ๑,๒๒๖ ราย (https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/) และจำนวนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
รัฐบาลอ้างว่าในเดือนพฤาภาคมจะมีวัคซีนเข้ามาในไทยร่วม ๕.๒ ล้านโดส และเดือนมิถุนายนจำนวน ๖ ล้านโดส และได้กำหนดยุทธศาสตร์การฉีดเอาไว้ ๓ แนวทาง คือ ๑) ฉีดผู้ที่ทะเบียน “หมอพร้อม” ซึ่งเป็นกลุ่ม ๗ โรคและอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป (ร้อยละ ๓๐) ๒) ฉีดกลุ่มเป้าหมายที่โรงพยาบาลนัดหมาย (ร้อยละ ๕๐) และ ๓) ฉีดแบบประชาชนเดินเข้ามาขอฉีดเอง ร้อยละ ๒๐ ผมคิดว่าการกำหนดยุทธศาสตร์การฉีดแบบนี้นอกจากไม่ช่วยลดความรุนแรงและการเสียชีวิตแล้ว ยังไม่สามารถทำให้การแพร่ระบาดลดลงอีกด้วย
ในการฉีดวัคซีนร่วม ๑๑.๒ ล้านโดสช่วงสองเดือนถัดจากนี้นั้น ผมคิดว่า รัฐบาลต้องเน้นวัตถุประสงค์เรื่อง “การลดการแพร่ระบาด เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่” เป็นหลัก ส่วนการลดความรุนแรงและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อนั้นเป็นผลสืบเนื่องที่จะเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดที่ลดลง ดังนั้นการลดการแพร่ระบาดจึงเป็นหัวใจหลักของการฉีดวัคซีนในช่วงสองเดือนถัดจากนี้ และควรใช้ยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนที่เกื้อหนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนสามารถดำเนินต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้การกำหนดเกณฑ์การเลือกกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนต้องยึดเกณฑ์ ๑)ความจำเป็นในการดำรงอาชีพ ๒) ลักษณะของอาชีพที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนเป็นจำนวนมาก และ ๓) ลักษณะความหนาแน่นของประชาชนในแต่ละพื้นที่ เป็นหลัก แทนการใช้เกณฑ์เรื่องอายุ
ภายใต้วัตถุประสงค์ที่ลดการแพร่ระบาดควรใช้วัคซีนที่มีประสิทธิผลในการป้องกันสูงกับกลุ่มคนที่เข้าเกณฑ์ทั้งสาม และกลุ่มเหล่านั้นควรได้รับความลำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ในการฉีดวัคซีน ซึ่งประกอบด้วย ๑) ผู้ใช้แรงงานในโรงงาน ๒) ผู้มีอาชีพค้าขายในตลาดสด ตลาดติดแอร์ เจ้าของร้านค้า และร้านอาหารทั้งหลาย ๓) ผู้ที่มีอาชีพขับรถขนส่งสาธารณะและส่งวัสดุ เช่น พนักงานขับรถเมล์ รถแท็กซี่ ๔) เป็นผู้ที่อาศัยในชุมชนแออัดที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ ๆ ๕) บุคคลที่ทำงานด้านบริการซึ่งต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนเป็นจำนวนมากทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น พนักงานธนาคาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรม เป็นต้น และ๖) นักโทษและผู้คุม
ส่วนจะเป็นวัคซีนยี่ห้อใดก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อของรัฐบาลเกี่ยวกับวัคซีนเหล่านั้น แต่ก็ควรเลือกวัคซีนที่มีประสิทธิผลสูงในการป้องกันการติดเชื้อสำหรับฉีดกลุ่มดังกล่าว เพราะจะช่วยลดการแพร่ระบาดได้มากกว่าวัคซีนที่มีคุณภาพต่ำ สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสโรคต่ำ อยู่ในบ้านเป็นหลัก มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นน้อย มีรายได้พอเลี้ยงตนเองได้ (เช่น ได้รับเงินบำนาญ) หรือ อยู่ในพื้นที่มีสภาพแวดล้อมดี อากาศปลอดโปร่ง ผู้คนไม่หนาแน่น แม้จะสูงอายุก็อาจฉีดวัคซีนในภายหลังก็ได้
แต่หากรัฐบาลยังใช้แนวทางการฉีดวัคซีนดังที่ทำกันอยู่ในเวลานี้ ก็มีความเป็นไปได้ต่ำที่จะทำให้การแพร่ระบาดของโควิดลดลงในช่วงสองเดือนนี้ เพราะเน้นการฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุที่มักอยู่กับบ้านและติดต่อสัมผัสกับคนภายนอกน้อย จึงมีความเสี่ยงต่ำในการติดเชื้อและเป็นแหล่งแพร่ระบาด (ถึงแม้ว่าจะเป็นความจริงว่าหากกลุ่มนี้ติดโรคแล้วจะมีอาการรุนแรง) แต่การติดเชื้อของผู้สูงอายุในระยะนี้มักติดจากลูกหลานที่ทำงานนอกบ้าน เช่นโรงงานหรือสำนักงาน เพราะฉะนั้นหากกลุ่มคนที่ทำงานนอกบ้านได้รับการฉีดวัคซีน โอกาสที่พวกเขาจะติดเชื้อและเป็นแหล่งแพร่เชื้อก็จะมีต่ำ และนั่นหมายความว่าผู้สูงอายุที่อยู่บ้านเดียวกันมีโอกาสติดเชื้อโรคต่ำตามไปด้วย
การปรับยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนในเรื่องกลุ่มเป้าหมายจึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำอย่างเร่งด่วน หากรัฐบาลประสงค์จะลดการแพร่ระบาดของโควิดในช่วงสองเดือนนี้ และประสงค์ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนดำเนินต่อไปได้ แต่หากยังไม่ปรับเราก็จะยังติดอยู่กับจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงต่อไปอีกยาวนาน