เผยแพร่: 10 มี.ค. 2564 08:21 ปรับปรุง: 10 มี.ค. 2564 08:21 โดย: ผู้จัดการออนไลน์
สายแฉดาหน้าเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลใน “ม็อบราษฎร” ด้าน “แป้ง Headache” ชี้ “นักต้มตุ๋น” คือตัวการส่ง “แอมมี่” เข้าคุก ข้องใจอาจพัวพันปัญหาเงินบริจาค ตะลึง “นนท์ ปราบจะบก” เปลี่ยนชื่อมา 3 ครั้ง ปัจจุบันชื่อ “กฤติเดช กรองทอง” อยู่ระหว่างหลบหนีคดีฉ้อโกง พบโจทก์เพียบ ขณะที่ “เซียนแว่น” แฉตั้งแต่ศิลปิน แกนนำ ยันพรรคก้าวไกล ฝ่าย “หมออั้ม” จี้เงินบริจาคหายไปไหน? “สมบัติ ทองย้อย” ลั่น ม็อบอะไรวะเนี่ย !
เรียกว่า “แฉกันยับ” เลยทีเดียวสำหรับสถานการณ์ของม็อบราฎรในขณะนี้ ใครอมเงินบริจาค? ใครเป็นสาย? ใครอยากให้เกิดความรุนแรง? ล้วนเป็นประเด็นที่ถูกขุดออกมาแฉกันรัวๆ จากแต่ละกลุ่มแต่ละขั้วชนิดไม่มีใครยอมใคร ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นกับม็อบใดๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
ส่วนว่าใครจะเป็นคนแฉ? แล้วใครบ้างที่ถูกแฉ? คงต้องไล่เรียงกันทีละเรื่องทีละประเด็น
มือแฉที่มาแรงสุดตอนนี้เห็นจะหนีไม่พ้น “แป้ง” ศิลปินกราฟิตี เจ้าของนามแฝงและเพจชื่อเดียวกันคือ “Headache Stencil” ซึ่งโพสต์แฉเรื่องการหักหลัง ชี้เป้าจับ “แอมมี่” และนักต้มตุ๋นที่เข้ามาพัวพันกับเงินบริจาค โดย “Headache” เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อปี 2561 หลังจากที่พ่นภาพใบหน้าของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนาฬิกาปลุกกระดิ่งทรงกลมบนสะพานลอยย่านอ่อนนุช ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกมาตักเตือนถึงห้องพัก และเพิ่งจัดนิทรรศการ “112 The Exhibition” ในรูปแบบ Online Exhibition ไปเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา
ส่วนกรณีที่ศิลปิน Headache ออกมาแฉนั้นเนื่องจากเขาถูกปล่อยข่าวว่าเป็นสายทำให้ “แอมมี่ The Bottom Blues” หรือ “ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์” ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์ หน้าเรือนจำคลองเปรม ถูกจับ เพราะเขาไปรู้มาว่า “นักต้มตุ๋น” ซึ่งหมายถึง “นนท์ ปราบจะบก” เป็นคนสั่งให้เด็กเอาตัวแอมมี่ให้ตำรวจเพื่อไม่ให้ม็อบเสียขบวน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นักต้มตุ๋นก็เคยสั่งให้เด็กไปก่อเหตุรุนแรงจนเป็นเหตุให้เด็กคนหนึ่งติดคุกติดตะรางมาแล้ว เขาจึงนำเรื่องนี้ไปพูดคุยกับ “ทราย เจริญปุระ” หนึ่งในแกนนำที่ดูแลเรื่องเงินบริจาคและความเป็นอยู่ของม็อบราษฎร เพื่อให้จัดการกับนักต้มตุ๋น เพราะทรายเป็นคนพานักต้มตุ๋นเข้ามาในม็อบ ซึ่งทรายก็รับปาก แต่หลังจากนั้นทรายกลับพูดให้คนเข้าใจว่าศิลปิน Headache มาขอโทษทราย Headache เลยออกมาแฉเรื่องทั้งหมด พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดนักต้มตุ๋นจึงเข้ามาพัวพันกับเงินบริจาค และตั้งแต่ทรายพานักต้มตุ๋นเข้ามา ทรายก็มีข้อครหาเรื่องเงินบริจาคมาตลอด รุ่งขึ้นทรายจึงออกมาโพสต์ชี้แจงเรื่องการใช้เงิน แต่ไม่มีรายละเอียดของตัวเลขแต่อย่างใด
การแฉครั้งนี้ทำให้หลายคนสงสัยว่า “นนท์ ปราบจะบก” เป็นใคร? เหตุใดจึงได้ฉายาว่า “นักต้มตุ๋น” ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เมื่อปี 2560 นายนนท์ เคยถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาปลอมเอกสารสิทธิ และฉ้อโกง จากกรณีหลอกขายตั๋วเครื่องบินปลอม มูลค่าความเสียหายกว่า 1.3 ล้านบาท ทำให้เขาถูกตัดสินจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยนายนนท์ เพิ่งเข้ามาสนิทกับทราย และได้มีบทบาทในม็อบราษฎรในช่วงปลายปี 2563 จากการที่เขานำข้าวของมาบริจาคบ่อยครั้ง ทั้งนี้ หลังจากที่ถูก Headache แฉ นายนนท์ ได้โพสต์แสดงความบริสุทธิ์ใจว่าการที่เขาถูกจำคุกในคดีหลอกขายตั๋วเครื่องบินนั้นทำให้เขาสำนึกผิดและไม่คิดกลับไปเดินเส้นทางเดิมอีก
แต่ทั้งนี้ เมื่อย้อนไปดูข้อมูลเดิมของนายนนท์กลับพบความน่าเคลือบแคลงในหลายประเด็น โดยเขาเคยเปลี่ยนชื่อมาแล้วหลายครั้ง ปี 2554 เปลี่ยนจาก ภูรินนท์ ปราบจะบก เป็น ธนิศร ปราบจะบก ต่อมาปี 2556 เปลี่ยนชื่อเป็นนนท์ ปราบจะบก และปี 2562 เปลี่ยนเป็น กฤติเดช กรองทอง ซึ่งก็คือชื่อที่ปรากฏบนบัตรประชาชนในปัจจุบันนั่นเอง นอกจากนั้น ยังพบทะเบียนประวัติในปี 2563 ว่าเขาอยู่ในฐานะ “หลบหนี” คดีฉ้อโกงประชาชน แปลว่าหลังจากพ้นโทษในคดีหลอกขายตั๋วเครื่องบิน เขาก็ยังก่อคดีซ้ำอีก
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อความเตือนภัยที่ปรากฏบนเพจ Godzilla Thailand Model ซึ่งเป็นเพจซื้อขายโมเดลของสะสม เมื่อเดือน พ.ค.2563 โดยผู้ที่ใช้เฟซบุ๊ก Srivoranart Golfkrub ได้โพสต์เตือนภัยว่า นายนนท์ มีพฤติกรรมเป็นมิจฉาชีพ อ้างตัวกับสมาชิกในกลุ่มว่าสามารถหิ้วของเข้ามาให้ได้ในราคาพิเศษ โดยจะส่งของให้จริงในครั้งแรกๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น จากนั้นในการซื้อขายครั้งต่อไปเมื่อสมาชิกโอนเงินไปให้แล้ว นายนนท์ก็จะอ้างว่าอยู่ต่างประเทศ หรือมีปัญหาล่าช้าเรื่องการจัดส่ง โดยนายนนท์ จะแฝงตัวอยู่ทั้งในกลุ่มก็อตซิล่า กลุ่มของเล่น Hot toys ไปจนถึงกลุ่มสินค้าราคาแพง รวมทั้งระบุว่า นายนนท์ มีการเปลี่ยนชื่อและเคยถูกจำคุกในคดีฉ้อโกงดังที่ปรากฏในข้อมูลข้างต้นด้วย นอกจากนั้น ยังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กบางคนโพสต์แฉว่า นายนนท์ มีพฤติกรรมหลอกลวงว่าเป็นนักธุรกิจร้อยล้าน เป็นเจ้าของบริษัทท่องเที่ยว เพื่อหลอกเหยื่อผู้หญิงที่มีฐานะดีให้โอนเงินให้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้ออกมาตอบโต้ศิลปิน “แป้ง Headache” กรณีที่เขาแฉนายนนท์ ด้วยเช่นกัน โดย “เซียนแว่น” สราวุทธิ์ กุลมธุรพจน์ แกนนำม็อบกลุ่มราษฎร จ.เชียงราย ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งนักแฉของม็อบราษฎรได้โพสต์ในทำนองว่า “แป้ง Headache” เป็นสายให้ตำรวจ โดยเซียนแว่น ระบุว่า แอมมี่ส่งคลิปเผาพระบรมฉายาลักษณ์ให้แป้ง ต่อมาตำรวจได้ส่งคลิปดังกล่าวมาให้พวกตนก่อนที่จะเป็นข่าวใหญ่ จึงสงสัยว่าคลิปแอมมี่ ไปอยู่ในมือตำรวจได้อย่างไร ในเมื่อแอมมี่ ส่งคลิปให้แป้งเพียงคนเดียว แต่ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวก็ทำให้สังคมสงสัยในตัวเซียนแว่นเช่นกันว่า…ทำไมจู่ๆ ตำรวจจึงส่งคลิปแอมมี่ให้เซียนแว่น? และตำรวจกับเซียนแว่นมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนกันหรือไม่ อย่างไร?
ก่อนหน้านี้ “เซียนแว่น” เคยมีผลงานการแฉมาแล้ว 2 ครั้ง คือ ในเดือน ก.ย.2563 เซียนแว่นออกมาแฉว่ามีนักเคลื่อนไหวรายหนึ่งมีการทุจริตในการจัดชุมนุมเยาวชนปลดแอกที่จังหวัดเชียงราย สมคบกับรุ่นน้องที่เรียนมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย จัดการชุมนุมเพื่อหากิน ขอเงินนักการเมืองเพื่อเอาไปใช้ส่วนตัว พร้อมติดแฮชแท็ก #เซเลบหรือขอทาน ต่อมา ในเดือน ธ.ค.2563 เซียนแว่น ก็ได้แฉถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลส่งคนไปบุกออฟฟิศของตนเพื่อค้นหาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับผลคะแนนในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พร้อมทั้งระบุว่า ตนมีคลิปเสียงและแชตหลุดซึ่งเป็นหลักฐานว่า ส.ส.พรรคก้าวไกล ให้เงินคนไปทำม็อบจำนวน 10,000 บาท ซึ่งเป็นหลักฐานที่สามารถทำให้พรรคก้าวไกลถูกยุบได้เลยทีเดียว
นักแฉอีกคนที่น่าสนใจเช่นกันคือ “หมออั้ม” อิราวัต อารีกิจ อดีตนักร้อง และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง แนวร่วมม็อบราษฎร ซึ่งได้ออกมาแฉเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการใช้เงินบริจาคของกลุ่มแกนนำม็อบราษฎรถึงสองครั้งสองครา โดยเมื่อเดือน ก.พ.2564 หมออั้มได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า แกนนำม็อบมักสร้างข่าวโจมตีคนเห็นต่าง ท่ามกลางกระแสว่าแกนนำโกงเงินบริจาค แกนนำบางคนติดการพนัน ติดหนี้ติดสิน เลยเอาเงินม็อบไปใช้ส่วนตัว ร่ำรวยจากเงินบริจาค ท่อน้ำเลี้ยงคนอื่น เป็นนักต้มตุ๋น ไม่กล้าแจงบัญชี ไม่กล้าเปิดที่มารายได้ แต่หน้าเพจโพสต์อวดรวย ซื้อคอนโดฯ ซื้อรถ หลายคนจึงถอยมาเพราะเห็นอะไรที่แย่ๆ ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2564 หมออั้ม ก็แฉซ้ำอีกดอกว่า เงินบริจาคของม็อบราษฎรหายไปไหน? เวลาที่จำเป็นต้องใช้ทำไมไม่มี
แน่นอนว่าผู้ที่เดือดร้อนและออกมาชี้แจงเรื่องเงินบริจาคจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “ทราย เจริญปุระ” ซึ่งรับหน้าที่รับบริจาคและจัดสรรการใช้จ่ายเงินภายในม็อบ แต่การชี้แจงก็เป็นไปในรูปแบบเดิมๆ คือยืนยันว่าใช้เงินอย่างโปร่งใสแต่ไม่มีการแจกแจงตัวเลข
และอีกคนที่ออกตอบคำถามในช่วงเวลาเดียวกับทรายก็คือ “เฮียบุ๊ง” นายปกรณ์ พรชีวางกูร นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และผู้เปิดบัญชีรับบริจาคเงินสนับสนุนม็อบราษฎร ซึ่งเคยประกาศกร้าวเมื่อปลายปี 2563 ว่า “ดรามาให้แจงเรื่องเงิน…กูกับทรายขอตอบเลยว่า… ไม่แจง และจะไม่แจงแม้แต่บาทเดียว กูจะเอาไปทำไรก็เรื่องของพวกกู ใครมีปัญหาเรื่องนี้ นั่นคือเรื่องของมึง ไม่ใช่เรื่องของกู” ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2564 เฮียบุ๊งก็โพสต์ข้อความด้วยความฉุนเฉียวหลังจากถูกทวงถามว่ารถห้องน้ำหายไปไหน? โดยเฮียบุ๊งชี้ว่าเป็นการปั่นกระแสของพวก IO ที่ต้องการโจมตีม็อบราษฎร
อีกคนที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือ “นายสมบัติ ทองย้อย” อดีตหัวหน้าการ์ดม็อบราษฎร และการ์ดเสื้อแดง ซึ่งเป็นคนเดียวที่ออกมาแฉเรื่องการใช้ความรุนแรงของม็อบราษฎร โดยนายสมบัติ ระบุว่า การชุมนุมของกลุ่มราษฎรเมื่อวันที่ 13 ก.พ.2564 นั้นมีผู้ชุมนุมที่จงใจใช้ความรุนแรง ทำให้สถานการณ์บานปลาย ขณะที่ตนและ “ครูใหญ่” นายอรรถพล บัวพัฒน์ แกนนำกลุ่มม็อบราษฎร เข้าไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีคนนับถอยหลังก่อนที่จะปาระเบิด ประทัดยักษ์ และสารพัดสิ่งของเข้าไปในฝั่งตำรวจ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่มือที่ 3 แต่เป็นฝีมือของการ์ดและมวลชนที่คอยปลุกปั่น
นายสมบัติ ยังได้ให้สัมภาษณ์กับ Manager Online ถึงกรณีการออกมาแฉกันเละเทะของม็อบราษฎร ว่า “ผมไม่เคยเจอม็อบที่มีสถานการณ์แบบนี้ ม็อบอะไรวะเนี่ย! มีสายสนกลใน แฉกันเยอะแยะขนาดนี้ นี่มันม็อบหรือเกมเศรษฐี เกมบันไดงู ม็อบนิวเจนฯ มั่นใจในตัวเองสูง ไม่ฟังใคร จนเกิดความเสียหายจนกู้กลับคืนมาไม่ได้”
ขณะที่ในมุมมองของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อม็อบชุมนุมไปนานๆ แต่ละคนจะเกิดความเหนื่อยล้าและมีปัญหาภายในองค์กร ในกรณีเรื่องเงินบริจาคนั้นถ้าแกนนำมั่นใจในความสุจริตก็ชี้แจงไป ไม่มีอะไรต้องกลัว
“สมัยที่ชุมนุมเสื้อแดงก็มีคนสงสัยเรื่องเงินบริจาคก็ชี้แจงกันไป แต่ถ้ามีการกล่าวหาลอยๆ ก็ดำเนินการฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาท ตอนนั้นก็ขึ้นโรงขึ้นศาลกัน เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในม็อบ” นายจตุพร กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากมองในเรื่องของความโปร่งใสและหลักประชาธิปไตยแล้ว การออกมาแฉกันของกลุ่มต่างๆ ภายในม็อบก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะการติเพื่อก่อย่อมมีประโยชน์กว่าปล่อยให้ความผิดพลาดต่างๆ ลุกลามบานปลายจนไม่สามารถแก้ไขอะไรได้!
‘ม็อบ’ เป็นปัญหายื้อของรัฐบาล
เผยแพร่: 8 มี.ค. 2564 16:38 ปรับปรุง: 8 มี.ค. 2564 16:38 โดย: โสภณ องค์การณ์
หนักหนาสาหัสไม่เบาละครับ สำหรับข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีต่อ “โตโต้” และกลุ่มการ์ดรวม 18 คน ซึ่งถูกจับกุมบนอาคารจอดรถในห้างของโรงภาพยนตร์เมเจอร์ รัชโยธิน เป็นความผิดซึ่งหน้า มีข้อหาสารพัดรวมทั้งอั้งยี่ ซ่องโจร ฯลฯ
ตำรวจตรวจค้นเป้ กระเป๋ามีอุปกรณ์ต่างๆ เช่น หนังสติ๊ก 15 อัน, หัวน็อต 50 ตัว, ลูกแก้ว 200 ลูก, ระเบิดควัน 30 ลูก, ถุงน้ำปลาร้า 30 ถุง, หมวกกันกระแทก 13 ใบ, เสื้อเกราะ 10 ตัว, ท่อเก็บแก๊สน้ำตา 1 อัน, โล่ 1 อัน, ค้อนเหล็ก 1 อัน
เจอแบบนี้ “โตโต้” หัวหน้าการ์ดกลุ่มวีโว่ต้องอธิบายให้ศาลฟังด้วยเหตุผลว่าทำไมการอ้างว่าไปทานอาหารกับพรรคพวกจึงต้องมีสิ่งของพวกนี้ไปด้วย และปลาร้าใส่ถุงคงเอาไปเปิดทานในร้านอาหารห้องแอร์ไม่ได้แน่ เจ้าของร้านคงไม่ยอม
ถือว่าเป็นข้อหาหนักสำหรับพวกการ์ดวีโว่ ซึ่งอีกกลุ่มมีพวกโดนจับกุมในคดีอื่นๆ และพวกที่รวมตัวเข้าแย่งชิงผู้ต้องหา ทำลายพาหนะ ทรัพย์สินราชการ รวมทั้งรุมทำร้ายเจ้าหน้าที่ ตัวของ “โตโต้” เองอาจจะไม่ได้อยู่นอกเรือนจำอีกสักพัก
ก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโดนทำร้ายด้วยหนังสติ๊ก ระเบิดไปป์ มีทั้งระเบิดปิงปอง และสิ่งเทียมอาวุธอื่นๆ การก่อเหตุไม่สามารถจับกุมตัวได้ คราวนี้ได้พร้อมของกลางเป็นหลักฐาน ทำให้ชาวบ้านตาสว่างว่าพวกก่อเหตุร้ายเป็นใครกันแน่
โดยปกติการ์ดคือพวกที่ต้องคุ้มครองปกป้องดูแลผู้มาร่วมชุมนุม ไม่ใช่เป็นพวกที่พกอุปกรณ์ต่างๆ อย่างนั้นมาปฏิบัติการเสียเอง ลักษณะที่ถูกตรวจพบเจ้าหน้าที่ตั้งข้อสงสัยไว้ว่าจะต้องถูกนำมาใช้งาน ไม่อย่างนั้นจะพกพามาทำไม
การ์ดของม็อบ 3 นิ้วหรือม็อบอื่นๆ ในเครือข่ายมีชื่อเรียกหลากหลายตามที่อยากจะเปลี่ยน บางครั้งมีปัญหาทะเลาะกันเอง เกี่ยวกับงานจัดการ ทำให้แกนนำต้องโละทิ้ง และประกาศว่าจะจ้างการ์ดมืออาชีพ ได้หรือไม่ ไม่มีคำประกาศ
แต่พวกที่ไปรวมตัวจนถูกจับกุมตัวมีจำนวนมากกว่า 50 คน และส่วนหนึ่งไปมีบทบาทในการชิงตัวผู้ต้องหา ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทำลายทรัพย์สินราชการ โทษหนักกว่าผู้ที่ถูกปล่อยให้หนีออกจากรถ แต่ภายหลังทนายความพาไปมอบตัว
นั่นเป็นทางออกที่ฉลาดในแง่ของกฎหมาย เพราะถ้าหนีไป อย่างไรก็ไม่รอดเพราะเจ้าหน้าที่มีหลักฐานทุกคน ออกหมายจับได้และเสี่ยงจะโดนไม่ให้ประกันตัว ดังนั้น กลุ่มนี้มอบตัวกับตำรวจและถูกปล่อยตัวไป ไม่ต้องนอนห้องขัง
“โตโต้” คงจะโดนหนักกว่าคนอื่นที่เป็นลูกทีมในการ์ด ที่ผ่านมาบทบาทของการ์ด หรือจำนวน ดูมีมากเมื่อเทียบกับจำนวนคนเข้าร่วม ส่วนหนึ่งเป็นเด็กช่างกล อาชีวะ ซึ่งภายหลังมีอาชีวะอีกกลุ่มประกาศแนวทางปกป้องสถาบัน
สภาวะการป่วนเมืองโดยกลุ่ม Redem จะเป็นสิ่งที่รัฐบาล 3 ลุงต้องเผชิญจากนี้ไป เพราะการจัดม็อบโดยกลุ่มนี้อ้างว่าไม่มีแกนนำ ไม่มีใครควบคุมใคร ไม่มีการปราศรัยใหญ่ จะเป็นกลุ่มชุมนุมตามจุดเป้าหมาย และมีความเสี่ยงด้านความรุนแรง
เหตุปะทะและเกิดความรุนแรงมีขึ้นให้เห็นครั้งแรกของกลุ่ม Redem วันที่ 28 เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หน้าหน่วยกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถนนวิภาวดีรังสิต มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บหลายนาย ทรัพย์สินราชการเสียหาย มีหลายคนโดนจับกุม
กลุ่ม Redem สร้างผลงานอีกครั้งวันเสาร์ที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา เมื่อเดินขบวนจากห้าแยกลาดพร้าวไปทำกิจกรรมชุมนุมจุดไฟเผาขยะหน้าที่ทำการศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เจ้าหน้าที่ไม่สกัดการเดินขบวน แต่มุ่งปักหลักภายในบริเวณรั้วศาล
นั่นน่าจะเป็นแผนขุดบ่อล่อปลา ให้ผู้ชุมนุมกลุ่ม Redem ทำกิจกรรมกับรั้วศาล ฝ่ายเจ้าหน้าที่มีทั้งสื่อและคนบันทึกภาพเหตุการณ์ไว้ทั้งหมด เพื่อปรึกษาศาลว่าสมควรดำเนินคดีอย่างไรกับผู้ทำกิจกรรม เป็นการกระทำซึ่งหมิ่นศาลหรือไม่
กลุ่ม Redem ไม่ได้เน้นการรณรงค์เรื่องใดเป็นการเฉพาะ ไม่มีวาระชัดเจน แต่เป็นการจัดกิจกรรมซึ่งเป็นภาระของเจ้าหน้าที่ต้องระดมกำลังเพื่อตั้งรับและป้องกันเหตุร้าย สิ้นเปลืองทั้งงบประมาณ กำลังพล และสร้างปัญหาการจราจรในพื้นที่
การชุมนุมทั้งหน้าหน่วยทหารวันที่ 28 และหน้าศาลอาญา ทำให้เกิดปัญหาการจราจรต่อเนื่อง และนั่นอาจจะเป็นจุดประสงค์ของการชุมนุมเพื่อให้มีการรับรู้โดยประชาชนทั่วไปถึงแรงกดดันและข้อเรียกร้อง และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
เจ้าหน้าที่มีบันทึกกิจกรรมของคนในกลุ่มซึ่งมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ชุมนุม และพร้อมดำเนินคดีในกรณีที่มีการละเมิดกฎหมาย ระยะหลังจะมีทั้งการปาระเบิดปิงปอง ระเบิดท่อแบบไปป์บอมบ์ รวมทั้งการกระทบกระทั่ง ขว้างปาอิฐ สิ่งของ
รัฐบาล 3 ลุงย่อมใช้เหตุการณ์เหล่านี้เป็นข้ออ้างเพื่อลากยาวประกาศภาวะฉุกเฉินซึ่งใช้ควบเป็นมาตรการจัดการกับการระบาดของโคโรนาไวรัส แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงนั้นถูกมองว่าเป็นเพื่อการควบคุมการชุมนุม เดินขบวนประท้วง ความรุนแรง
แน่นอน การชุมนุมประท้วงถี่ยิบย่อมส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในพื้นที่มีการชุมนุม บรรยากาศของความไม่สงบทำให้เกิดปัญหาความเชื่อมั่นในบรรยากาศการลุงทุน และความสามารถในการจัดการโดยรัฐบาลแม้จะมีมาตรการเข้มข้นก็ตาม
คำอ้อนวอนของรัฐบาลไม่ได้ผล เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมแยกเป็นหลายพวก แม้จะมีสัญลักษณ์เป็นการชู 3 นิ้วก็ตาม ข้อเรียกร้องเริ่มมีความแตกต่าง ปรับเปลี่ยนตามภาวะ การจัดการด้านกฎหมายด้วยการไม่ให้ประกันตัว อาจได้ผลระดับหนึ่ง
.