Skip to content
  • หน้าแรก
  • รายการสถานี
    • อรุณสวัสดิ์ ฟ้าวันใหม่
    • เล่าข่าวเด่น เล่นข่าวดัง
    • ฟ้าวันใหม่นิวส์
    • สนามข่าวโซเชียลฯ
    • ข่าวฟ้ายามเย็น
    • บ้านเมืองของเรา
    • ฟ้าทะลายโจร
  • การเมือง
  • เศรษฐกิจ-สังคม
  • บทความ
    • บทความพิเศษ
    • ประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรม
    • วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • ไลฟ์สไตล์
  • ซื้อสินค้า
  • ผังรายการ
  • ติดต่อโฆษณา
  • หน้าแรก
  • รายการสถานี
    • อรุณสวัสดิ์ ฟ้าวันใหม่
    • เล่าข่าวเด่น เล่นข่าวดัง
    • ฟ้าวันใหม่นิวส์
    • สนามข่าวโซเชียลฯ
    • ข่าวฟ้ายามเย็น
    • บ้านเมืองของเรา
    • ฟ้าทะลายโจร
  • การเมือง
  • เศรษฐกิจ-สังคม
  • บทความ
    • บทความพิเศษ
    • ประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรม
    • วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • ไลฟ์สไตล์
  • ซื้อสินค้า
  • ผังรายการ
  • ติดต่อโฆษณา

การเมือง

“ปิยบุตร”ชื่นชมศาลผดุงความยุติธรรม กรณีไม่ระงับ “คลิปทอน” ถือเป็นหลักประกันเสรีภาพประชาชน

9 กุมภาพันธ์ 2564

09 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

9 ก.พ.64-  เมื่อค่ำวันที่ 8 ก.พ. 2564 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้ทำการไลฟ์ในเพจเฟสบุ๊คชื่อ ‘Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล’ รายการสนามกฎหมาย EP.19 โดยระบุว่า วันนี้ศาลอาญาได้ยกคำร้องที่ขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือ DE เป็นผู้ร้องขอ

สืบเนื่องจากการที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไปร้องขอให้ศาลสั่งปิด URL 3 ลิงค์ คือ เฟสบุ้คไลฟ์ของนายธนาธร วิดีโอที่เผยแพร่อยู่ในยูทูป และเว็บไซด์ของคณะก้าวหน้าที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยกระทรวงดิจิทัลได้อาศัยช่องทางกฎหมายตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ในการยื่นคำร้องให้มีการลบเนื้อหาดังกล่าว เช้าวันนี้ (8 ก.พ.) ศาลอาญาได้ตัดสินยกคำร้อง ดังนั้นจึงไม่ต้องระงับการเผยแพร่คลิปวัคซีนของนายธนาธร ตามการพิจารณาคดีของศาล คดีหมายเลขแดงที่ พศ 76/2564

โดย นายปิยบุตร ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การตัดสินคดีหมายเลขแดงที่ พศ 76/2564 ของศาลได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมา 4 ประการ โดยในอดีตที่ผ่านมาทางกระทรวงดิจิทัลส่งข้อมูลรายชื่อเว็บไซด์ที่ต้องการสั่งปิดไปให้ศาล แล้วผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกสั่งปิดไม่มีโอกาสได้โต้แย้งใดๆ แต่คำสั่งศาลตามคดีนี้ ได้สร้างแนวบรรทัดฐานขึ้นมาใหม่ ประการแรก ศาลได้ระบุในคำวินิจฉัยว่า การออกคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยชัดแจ้งและถาวรเมื่อสิ้นสุดกระบวนการแล้วไม่มีโอกาสให้ผู้ใดได้โต้แย้งอีกต่อไป การอนุโลมใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ถูกต้องกับคำร้องเช่นนี้ สมควรที่จะรับพิจารณาเสมือนหนึ่งเป็นคดีอาญาคดีหนึ่ง ซึ่งต้องให้โอกาสคู่ความทุกฝ่ายได้ต่อสู้คดีเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้การให้โอกาสดังกล่าวยังเป็นหลักการสำคัญสำหรับการทำงานขององค์กรตุลาการตามหลักนิติธรรม จากคำตัดสินดังกล่าวนั่นหมายความว่าต่อไปนี้เวลาที่กระทรวงดิจิทัลรวบรวมรายชื่อเว็บไซด์ที่จะสั่งปิดมาให้ศาล ศาลจะไม่ได้สั่งปิดเลยแต่จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้คู่กรณีมาโต้แย้งกันก่อน แล้วศาลก็จะพิจารณาแล้วจะสั่งให้ปิดหรือให้ยกคำร้อง 

นายปิยบุตร ยังกล่าวด้วยว่า บรรทัดฐานใหม่เช่นนี้เป็นการสร้างหลักประกันให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องและยังสร้างหลักประกันให้แก่ประชาชนที่ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกผ่านทางช่องทางเครื่อข่ายคอมพิวเตอร์ต่างๆ 

เลขาธิการคณะก้าวหน้า ยังได้ชี้ให้เห็นด้วยว่า ’คดีหมายเลขแดงที่ พศ 76/2564’ ยังได้สร้างแนวบรรทัดฐานขึ้นมาใหม่ในประการที่สองในประเด็นที่ว่า เหตุแห่งการระงับการเผยแพร่ เหตุแห่งการปิดเว็บไซด์ต่างๆ ที่อยู่ในมาตรา 20 (1) ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ศาลได้วางหลักใหม่ไว้ว่าการที่จะสั่งปิดหากข้อความที่เกี่ยวข้องมีความผิดตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จะมาสั่งปิดตามมาตรา 20 ในทันทีไม่ได้เพราะว่ายังไม่รู้เลยว่าข้อความต่างๆ เป็นความผิดตามมาตรา 14 แล้วหรือไม่ หากผิดมาตรา 14 จริง ถึงค่อยมาพิจาณาสั่งปิดตามมาตรา 20 (1) 

นายปิยบุตร ยังกล่าวต่อไปด้วยว่า ประการที่สาม ศาลได้นำหลักความได้สัดส่วนหรือหลักความพอสมควรแก่เหตุมาใช้ในการพิจารณาตัดสินคดี การจะสั่งปิดสั่งลบได้ ตามมาตรา 20 (2) ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 นั้น ศาลได้แปลความ และระบุไว้ในคำวินิจฉัยในประเด็นนี้ว่า สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสาระสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ยอมรับความหลากหลายและอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่าง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนี้จึงถือเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับความคุ้มครองโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ตามหลักสากลของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีนิติรัฐและมีพันธกรณีในการปกป้องสิทธิมนุษชน ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยรับรองและเป็นภาคี ดังนั้นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะทำได้เมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดและเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองประโยชน์อันชอบธรรมของรัฐ และการจำกัดเสรีภาพต้องได้สัดส่วนกับความจำเป็นโดยต้องใช้มาตรการที่เป็นภาระน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐดังกล่าว

“นี่เป็นนิมิตรหมายที่ดี ศาลท่านไม่ได้อ้างแต่รัฐธรรมนูญ แต่ท่านยังได้อ้างถึงข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนด้วย ไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหรือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ศาลท่านนำมาใช้ด้วย ตรงนี้หมายความว่าแนวทางการตัดสินคดีเกิดขึ้นแล้ว ถ้าหากกระทรวงดิจิทัลขอมาให้สั่งปิดเว็บไซด์ให้หน่อย ศาลท่านก็จะมานั่งดูก่อนว่ามาตรการสั่งให้ปิด มาตรการสั่งให้ลบ ได้สัดส่วนหรือเกินกว่าเหตุหรือไม่ มีความจำเป็นหรือพอเหมาะพอควรหรือไม่ นี่เป็นมาตรฐานในการวัดว่ามาตรการในการจำกัดเสรีภาพต่างๆ เหล่านี้พอสมควรแก่เหตุหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น ในคำวินิจฉัยของศาล ท่านยังได้เน้นให้การตีความคำว่า อาจกระทบต่อความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องตีความโดยเคร่งครัดและเป็นภาวะวิสัย ซึ่งภาวะวิสัยหมายถึงเป็นเรื่องที่วิญญูชนทุกคนเห็นแล้ว เห็นพร้องต้องกันว่าเป็นเช่นนั้นมิใช่มุมมองของคนใดคนหนึ่ง” นายปิยบุตร ระบุ

นายปิยบุตร กล่าวว่า ประการที่สี่ ศาลยังได้พูดถึงกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยโดยศาลได้ระบุในคำวินิจฉัยว่า การพิจารณาว่าข้อความใดจะเป็นข้อความที่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะต้องพิจารณาจากข้อความทั้งหมด มิใช่พิจารณาเฉพาะตอนหนึ่งตอนใด ดังจะเห็นจากข้อความที่ผู้คัดค้าน(ธนาธร)นำเสนอนั้น เนื้อหาเกือบทั้งหมดมุ่งเน้นในเรื่องการกล่าวหารัฐบาลว่าบกพร่องในการจัดหาวัคซีน โดยมีการนำข้อมูลหลายอย่างมาสนับสนุน ข้อเท็จจริงเพียงว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือหุ้นบริษัทดังกล่าวมิได้ทำให้พระองค์เสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชังหรือไม่เป็นที่เคารพสักการะแต่อย่างใด ศาลยังได้ไปดูในรายละเอียดของคลิปวีดีโอด้วย ในกรณีที่คุณธนาธรบอกว่าคุณประยุทธ์จะรับผิดชอบไหวหรือไม่เพราะประชาชนจะตั้งคำถามกับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งมีผู้ถือหุ้นคือในหลวงรัชกาลที่ 10 ศาลบอกว่า ข้อความนี้ไม่อาจแปลความตามลำพังแยกขาดจากเนื้อความส่วนใหญ่ได้ ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนเสริมจากข้อมูลส่วนใหญ่ของการนำเสนอที่กล่าวหารัฐบาลว่าผิดพลาดในการให้วัคซีนเกือบทั้งหมดถูกผลิตในบริษัทเดียว การกล่าวอ้างถึงคำถามต่อประชาชนต่อสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งอาจกระทบต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นการชักชวนให้ประชาชนกล่าวโทษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่โดยลักษณะของข้อความที่สืบเนื่องกันมามีลักษณะเป็นการกล่าวหาว่าการกระทำของรัฐบาลจะกระทบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

“คลิปที่ธนาธร พูดไปนั้นไม่เข้า 112 ไม่ได้เป็นการกล่าวโทษ ไม่ได้เป็นการชี้ชวนให้สังคมมากล่าวโทษพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด แต่เป็นการกล่าวหาว่าการกระทำของรัฐบาลจะกระทบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศาลยังแปลความต่อด้วยว่า การแปลความข้อความที่กล่าวว่าอาจกระทบต่อความมั่นคงอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จนเป็นเหตุระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นี้เป็นการแปลความเชิงภาวิสัย กล่าวคือ ตามความหมายเท่าที่ปรากฎตามตามตัวอักษรทั้งหมด ไม่พึงนำข้อมูลเฉพาะตัวของผู้คัดค้าน (ธนาธร) ซึ่งรวมถึงประวัติหรือแนวทางทางการเมืองมาพิจารณา ศาลยังพูดต่อไปด้วยว่า ถ้อยคำที่พูดในคลิปวีดิโอว่า ‘วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย’ ผู้คัดค้านซึ่งก็คือคุณธนาธรอ้างว่าเป็นคำพูดที่นายกรัฐมนตรีเคยพูดทำนองนี้ และหน่วยงานของรัฐเคยใช้คำนี้ ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ผู้ร้อง(กระทรวงดิจิตัล)มิได้โต้แย้ง จึงฟังได้ตามที่ผู้คัดค้านนำสืบ ทั้งนี้แม้ว่าถ้อยคำจะไม่ตรงกันทั้งหมดแต่น่าจะแสดงว่าก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลได้มีการใช้ถ้อยคำที่แสดงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประกอบการจัดหาวัคซีนแล้ว การที่ผู้คัดค้านนำข้อความดังกล่าวมานำเสนอจึงไม่ใช่ความเท็จและลำพังข้อความดังกล่าวหากไม่ใช่ความเท็จก็ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระองค์จึงไม่ใช่การใส่ความ” นายปิยบุตร กล่าว

เลขาคณะก้าวหน้า กล่าวต่อไปด้วยว่า ศาลมองว่าการที่อะไรจะเป็นเรื่องที่กระทบความมั่นคง อะไรจะเข้า มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ ต้องตีความโดยไม่ใช่การตัดถ้อยคำใดถ้อยคำหนึ่งไป ต้องดูความทั้งหมดแล้วต้องใช้การตีความแบบภาวะวิสัย ไม่ใช่การตีความแบบอัตตวิสัยของใครคนใดคนหนึ่ง

นายปิยบุตร ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า กรณีของคำสั่งศาลนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าแม้พระราชบัญญัติหลายๆ ฉบับในประเทศไทยที่ออกกันมาแล้วมันมีปัญหาในทางตัวบทว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากจนเกินไป รวมทั้งกฎหมายหลายๆ ตัวออกมาแล้ว การใช้กฎหมายหรือแนวทางปฏิบัติเป็นไปในทางลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ศาลอาจจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ผ่านการตัดสินคดี ผ่านการวางแนวคำพิพากษา อีกทั้งในช่วงเวลาที่เรามีความรู้สึกว่ากฎหมายจำนวนมากออกมาละเมิดสิทธิ ซึ่งออกมาในช่วงที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ ตอนนี้เรามีศาลที่ผดุงความยุติธรรม ยึดมั่นในเรื่องหลักสิทธิเสรีภาพแล้วก็สามารถนำหลักการพื้นฐานต่างๆ มาปรับใช้กับการตัดสินคดีเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล และคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกด้วย.

.

แชร์กับเพื่อน

  • Facebook iconFacebook
  • Twitter iconTwitter
  • LINE iconLine

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

27 มิถุนายน 2565

“อันวาร์ ”ดับเครื่องชน“ประชาธิปัตย์” ข้องใจ“รองหัวหน้าพรรค”ประกาศไม่ให้ลงเลือกตั้ง

อ่านต่อ
24 มิถุนายน 2565

‘กทม.’แจ้ง7สถานที่ ใช้ชุมนุมสาธารณะเปิดช่องให้ปชช.แสดงออก

อ่านต่อ
23 มิถุนายน 2565

‘กรณ์’ขยี้ต่อ!! ย้ำน้ำมันแพง-ของแพง เป็นอำนาจก.พาณิชย์

อ่านต่อ
23 มิถุนายน 2565

‘นิพนธ์’ฉะ‘อันวาร์’ ไล่ไปที่ชอบๆ

อ่านต่อ
22 มิถุนายน 2565

‘อันวาร์’โวยลั่นโดนผู้มีอิทธิพลในพรรค ตัดชื่อเป็นผู้สมัครส.ส.ปัตตานี

อ่านต่อ
22 มิถุนายน 2565

“จุรินทร์”สวน “กรณ์” กล้าในสิ่งที่ควร รู้ไม่จริงอย่าพูด หาเสียงต้องมีความรับผิดชอบ ย้ำค่ากลั่น น้ำมัน มีกฎหมายเฉพาะ มีคณะกรรมการดูแล “พาณิชย์”ดูแลเรื่องปิดป้าย คุมหัวจ่าย จัดการเรื่องโก่งราคา

อ่านต่อ
Facebook Youtube Line
บริษัทบลูสกายแชนแนล
  • 2170 อาคารกรุงเทพทาวเวอร์ ชั้น 8
    แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง
    กรุงเทพมหานคร 10310
  • 02-308-0020
line-logo-100
Copyright © 2021