เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงจุดยืนการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ว่า ในที่ประชุมหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านในวันนี้จะหยิบมาพูดคุยกัน ในฐานะที่เป็นสมาชิกรัฐสภา ซึ่งประเด็นที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ไปในนามประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย แต่เจตนารมณ์จริงกับที่นำเสนอในสื่อมวลชนค่อนข้างไม่ตรงกัน เพราะเจตนารมณ์ของพรรคเพื่อไทย ที่ชัดเจน คือ ต้องการปกป้องคุ้มครองผู้ที่ถูกบังคับใช้กฎหมายและถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ถูกจับเป็นนักโทษทางความคิดเพียงเพราะเห็นต่างเท่านั้น ก็ใช้กฎหมายบังคับใช้ ถือเป็นการนำกฎหมายมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง และเราเห็นสภาพปัญหาที่จะเป็นวิกฤตทางการเมือง เพราะมีความเห็นต่างกันมากในเรื่องนี้ เนื่องจากมีผู้เรียกร้อง ผู้สนับสนุน และผู้ต่อต้าน ถ้าเราในฐานะพรรคการเมืองปล่อยไว้ทั้งที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติไม่ดึงปัญหามาแก้ไขในรัฐสภาตามวิถีประชาธิปไตย สิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นคือการแก้ไขนอกสภาฯ เราไม่อยากให้เกิดปัญหาเหล่านั้นขึ้น จึงรีบอาสานำทุกเรื่องที่เป็นปัญหาเข้าสู่รัฐสภา เพื่อแก้ไขปัญหาตามวิถีประชาธิปไตย
“เราไม่ได้มุ่งหมายว่า จะแก้อย่างไร หน้าที่เราคือรับเรื่องมาก่อน ส่วนจะแก้อย่างไรเป็นหน้าที่ของรัฐสภาตามประเด็นที่เสนอเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่มีสภาพการบังคับใช้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เริ่มต้นจากตำรวจ อัยการ ศาล เหล่านี้คือกระบวนการยุติธรรม ซึ่งแล้วแต่เขาเสนอเข้ามา โดยพรรคเพื่อไทย ไม่ได้บอกว่า จะทำอะไร เราอย่าตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดี ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ จะกลับไปวงจรอุบาทว์เหมือนเดิม มีการปะทะทางความคิดที่แตกแยกกัน” นพ.ชลน่าน กล่าว
เมื่อถามว่า กรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงมุมมองต่อการแก้ไขม. 112 ซึ่งดูเหมือนว่า พรรคเพื่อไทย จะน้อมรับความเห็นดังกล่าว นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราฟังความเห็นทุกฝ่ายทุกคน ส่วนจะนำเข้าสู่สภาฯในมุมไหนหรืออย่างไร มันก็เป็นตามไปสภาพนั้น ซึ่งเราต้องยอมรับความเห็นทั้งสองฝ่าย เพราะเป็นตัวกลางในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติและเป็นหน้าที่ ซึ่งจะปล่อยให้ไปสู้กันบนถนนไม่ได้ ส่วนจะเป็นไปตามความเห็นของผู้ใดก็เป็นไปตามระบบรัฐสภาที่ใช้เสียงข้างมาก ผ่านกระบวนการแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่ใช่การแก้ไขกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่กระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่มิชอบ เราสามารถใช้กลไกรัฐสภาตรวจสอบและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินในส่วนนี้ได้ เช่น การตั้งกระทู้ถามสด และนำเข้าสู่กรรมาธิการเพื่อตรวจสอบ อาทิ ทำไมไม่ให้ประกันตัวว่า เพราะอะไร หรือเสนอเป็นญัตติด่วนก็ได้ โดยทำได้หลายมิติ