Skip to content
  • หน้าแรก
  • รายการสถานี
    • อรุณสวัสดิ์ ฟ้าวันใหม่
    • เล่าข่าวเด่น เล่นข่าวดัง
    • ฟ้าวันใหม่นิวส์
    • สนามข่าวโซเชียลฯ
    • ข่าวฟ้ายามเย็น
    • บ้านเมืองของเรา
    • ฟ้าทะลายโจร
  • การเมือง
  • เศรษฐกิจ-สังคม
  • บทความ
    • บทความพิเศษ
    • ประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรม
    • วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • ไลฟ์สไตล์
  • ซื้อสินค้า
  • ผังรายการ
  • ติดต่อโฆษณา
  • หน้าแรก
  • รายการสถานี
    • อรุณสวัสดิ์ ฟ้าวันใหม่
    • เล่าข่าวเด่น เล่นข่าวดัง
    • ฟ้าวันใหม่นิวส์
    • สนามข่าวโซเชียลฯ
    • ข่าวฟ้ายามเย็น
    • บ้านเมืองของเรา
    • ฟ้าทะลายโจร
  • การเมือง
  • เศรษฐกิจ-สังคม
  • บทความ
    • บทความพิเศษ
    • ประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรม
    • วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • ไลฟ์สไตล์
  • ซื้อสินค้า
  • ผังรายการ
  • ติดต่อโฆษณา
หน้าแรก > การเมือง > ‘พรพรหม’ ทีม ‘ชัชชาติ’ กทม.ต้องมีแผนลดโลกร้อน

การเมือง

‘พรพรหม’ ทีม ‘ชัชชาติ’ กทม.ต้องมีแผนลดโลกร้อน

12 พฤษภาคม 2565

คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่ โดย “บุหงาตันหยง” เดลินิวส์ ออนไลน์

ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กำลังมาถึงโค้งสุดท้าย แต่ละฝ่ายต่างก็งัดกลยุทธ์มาหาเสียงดึงคะแนนนิยมให้ตัวเอง  สิ่งหนึ่งที่เป็นที่จับตาในการเลือกตั้งที่มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหน้าใหม่ถึง 7 แสนคนนี้ คือ “การเสนอแผนและแนวคิดจากคนรุ่นใหม่” ทีมงานของผู้สมัครผู้ว่าฯ แต่ละคนก็มีคนรุ่นใหม่ที่ช่วยเสนอ แนวคิดที่ทันสมัย  ตอบโจทย์การใช้ชีวิตเมืองใหญ่  ตอบโจทย์เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังตื่นตัวอยู่ทั่วโลก

ในส่วนทีมของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. เบอร์ 8 ตัวเต็งรอบนี้ มีคนรุ่นใหม่น่าสนใจคือ นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ อดีตผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม NEWDEM  ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี พ.ศ.2562 เขาเป็นคนที่มีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อไม่ได้รับการเลือกตั้ง ก็ไปรับตำแหน่งที่เกี่ยวกับงานที่สนใจ อาทิ เป็นผู้จัดการโครงการที่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme  : UNEP) – ดูแลโครงการด้านการจัดการขยะ และพลังงานทดแทน เป็นกรรมการคณะสิ่งแวดล้อมขององค์กรเสรีนิยมสากล (Liberal International) (วาระ 4 ปี: 2561-65) และยังดำรงตำแหน่งอาจารย์โครงการวิเทศคดีศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สอนด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ )

พรพรหม มีภาพเชื่อมโยงกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะบิดาคือนายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ก็เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อในพรรคประชาธิปัตย์ แต่วันนี้เขาเลือกจะเป็นทีมงานด้านสิ่งแวดล้อมให้นายชัชชาติ  เพราะเห็นว่า นโยบายการหาเสียง วิธีหาเสียง ไปถึงการทำงานแบบ “รักษ์โลก”ของนายชัชชาติตรงกับสิ่งที่ตัวเองสนใจ และตรงกับกระแสตื่นตัวทั่วโลกเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนหรือ climate change  โดยพรพรหมได้ร่วมมีส่วนในการนำเสนอนโยบายให้กับทีมงานของนายชัชชาติ ที่เตรียมตัวในการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.มาตั้งแต่ปี 62

“สาเหตุที่ผมลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะไม่เห็นด้วยกับมติที่ไปร่วมรัฐบาล” พรพรหมเล่า “จากนั้นก็หันไปทำงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ผมสนใจ และในปี 62 ก็ได้ฟังวิสัยทัศน์คุณชัชชาติ และเห็นว่า น่าสนใจเพราะเขาชูเรื่องทำเมืองให้น่าอยู่  ชูเรื่องการแก้ปัญหาอะไรที่เป็นเส้นเลือดฝอยของกรุงเทพฯ ไม่ใช่เมกะโปรเจคที่ต้องใช้เงินมาก  เมื่อผมแจ้งกับคุณพ่อ ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร และยังส่งเสริมให้ลองทำงานท้องถิ่นด้วย จากที่คุณพ่อมีประสบการณ์เคยเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.มาก่อน ก็ทราบว่า งานท้องถิ่นมีอะไรมาก สามารถช่วยพัฒนาได้มาก  เมื่อผมเข้าทีมคุณชัชชาติในปี 64 ก็เข้ามาเพิ่มเติมในบางเรื่อง จากที่เขาเตรียมนโยบายมาก่อนหน้านี้ ซึ่งผมเสนอว่า นโยบายควรเพิ่มเรื่อง Net Zero คือการปรับตัวกับโลกร้อนด้วย”

เมื่อถามว่า กทม. จะมีแนวทางร่วมปรับตัวลดโลกร้อนอย่างไร ความเห็นของพรพรหมคือ “อันดับแรก หน่วยงาน , ยานพาหนะของ กทม.มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะมาก อย่างหน่วยงานของ กทม. ก็มีศาลาว่าการเขต 2 แห่ง สำนักงานเขต และหน่วยงานในสังกัดอื่นๆ  และยังมียานพาหนะอย่างรถขยะ รถผู้บริหาร รถเทศกิจ ซึ่งอาคารก็มีการใช้พลังงาน รถก็ใช้พลังงาน มันมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น กทม.ต้องแก้ไขตัวเองก่อนเพื่อเป็นแบบอย่าง มันต้องมีระบบคำนวณว่า ส่วนที่เป็นสินทรัพย์ของ กทม. ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร แล้วก็คิดต่อว่า จะวางแผนลดก๊าซอย่างไร เช่น สำหรับพลังงานในอาคาร เราปรับใช้แผงโซล่าเซลล์ได้หรือไม่ รถของ กทม.เปลี่ยนเป็นรถพลังงานไฟฟ้า ( EV ) ได้หรือไม่ และต้องมีแผนกำจัดขยะกองใหญ่ ที่เป็นตัวปล่อยก๊าซมีเทนด้วย”

พรพรหมมีความคิดอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องการซื้อคาร์บอนเครดิต “มันเป็นแนวคิดที่น่าสนใจครับ  คือต่างประเทศมันมีโมเดลในการขายคาร์บอนเครดิตอยู่แล้ว ว่า ถ้าคุณลดก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไร คุณได้ค่าตอบแทนเท่าไร แต่ไทยยังไม่มีระบบของตัวเอง ในต่างประเทศ ถ้าคุณทำอะไรลดก๊าซเรือนกระจก จะมีบริษัทตัวกลางไปประเมินราคาแล้วหาตลาดรับซื้อ บริษัทประเมินราคาชื่อดังคือ gold standard กับบริษัท Verra ในภูมิภาคนี้ตลาดรับซื้อคาร์บอนเครดิตจะอยู่ในสิงคโปร์”

“ผมยกตัวอย่างว่า อย่างชุมชนมีพื้นที่รกร้าง ก็รวมตัวกันปลูกต้นไม้   หรือกระทั่งอย่างเขตบางขุนเทียนนี่ ปลูกป่าชายเลนมันช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้เยอะ เมื่อมีการรวมตัวกันสร้างพื้นที่สีเขียว กทม.ก็อาจต้องมีหน่วยงานที่เข้าไปคำนวณค่าคาร์บอนเครดิตแล้ว กทม.รับซื้อค่าเครดิตเหล่านั้น เป็นรายได้ให้ชุมชน โดย กทม.กำหนดราคาตลาดได้ หรือเราจะมีนโยบายส่งเสริมเอกชนปลูกต้นไม้ในพื้นที่ของตัวเอง หรือที่เรียกว่า rewilding  ให้มันมีต้นไม้เยอะๆ กรองอากาศ ระบบรากดูดซับน้ำเพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกทางหนึ่ง สำหรับพื้นที่ของเอกชนที่ยังไม่ใช้ประโยชน์  เราอาจต้องมีมาตรการจูงใจเช่น ไม่ต้องจ่ายภาษีที่ดิน หรือให้ กทม.เช่า แต่หากเขาต้องการขายที่  กทม.ก็คืนที่ดินได้  ที่ต้องคิดคือมาตรการอย่างไรจูงใจให้มีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น มีการอบรมรุกขกรในการตัดแต่งต้นไม้อย่างเหมาะสม ในส่วนต้นไม้ที่ กทม.ปลูก”

“ในส่วนของยานพาหนะหรืออาคารของ กทม. ก็ต้องมีการจูงใจให้ลดการใช้ไฟฟ้า เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอด LED หรือโรงเรียนในสังกัด กทม. 437 แห่ง ถ้าทาหลังคาเป็นสีขาว พอโดนแสงอาทิตย์มันก็ไม่ดูดกลืนความร้อนเหมือนหลังคาสีเข้ม มันก็ช่วยลดอุณหภูมิ โรงเรียนเพิ่มพื้นที่ปลูกต้นไม้ก็ได้”

นโยบายของชัชชาติอีกเรื่องหนึ่งที่พรพรหมมีส่วนผลักดันคือ “ผู้ว่าฯเที่ยงคืน” ที่สร้างความปลอดภัยให้กับคนเลิกงานยามค่ำคืนและกระตุ้นเศรษฐกิจ พรพรหมอธิบายว่า “ผมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยระดมไอเดียเรื่องนี้ มันมาจากความรู้สึกส่วนตัวที่ว่า ผมเลิกงานดึกนะ แต่อยากไปวิ่งที่สวนสาธารณะกลับปิดตั้งแต่ 2 ทุ่ม คิดว่า จะขยายเวลาเปิดถึงเที่ยงคืนได้หรือไม่นะ กทม.ยังเอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนในช่วงกลางคืนไม่มากพอ อย่างเรื่องการเดินทางกลับบ้าน ผมเคยลงพื้นที่ร่วมกับคุณชัชชาติที่หน้าเซนทรัลเวิลด์ ราวสี่ทุ่มกว่า พบว่า คนรอรถเมล์เยอะมาก แต่รถเมล์มีน้อย แล้วรถไฟฟ้าบีทีเอสก็ปิดเที่ยงคืน ถ้ารถไม่พอเขาก็ต้องนั่งแทกซี่ มันมีมิติเรื่องการใช้ชีวิต ความสะดวกในการเดินทาง และความปลอดภัย”

“อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องเศรษฐกิจของคนกลางคืน มีผู้ประกอบการร้านอาหาร ผับ บาร์กลางคืนมาก หาบเร่แผงลอยกลางคืนก็มี เราจะช่วยคนตัวเล็กในเรื่องนี้แบบเชิงรุกได้อย่างไร อย่างการเปิดสถานประกอบการ อาจต้องคิดถึงเรื่องการทำโซนนิ่ง ว่าตรงไหนมีศักยภาพ อาจไปต่อรองกับมหาดไทยขยายเวลาเปิดให้เขาเพิ่มในโซนนั้นได้หรือไม่  เพราะคนเที่ยวกลางคืนเขาก็จะออกมาเที่ยวหลังเลิกงานราวสามสี่ทุ่ม  หลายร้านก็ร้านเล็ก ถ้าไม่ทำครัวขายอาหารด้วยเปิดแค่แป๊บเดียวก็ไม่คุ้มทุน เรื่องการโซนนิ่ง บางจุดก็น่าสนใจอย่างเยาวราช มีซอยที่เรียกว่า ‘ซอยนานาเยาวราช’ อยู่ในย่านตึกเก่า เป็นบาร์แบบย้อนยุคสวยมาก และมีร้านที่ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยด้วย  ถ้าเรามองย่านไหนมีศักยภาพ กทม.ก็ต้องเข้าไปเจรจาระหว่างผู้ประกอบการกับผู้อยู่อาศัยให้อยู่ร่วมกันได้”

เมื่อถามว่า การพูดคุยจะเป็นอย่างไร พรพรหมอธิบายว่า “ก็ต้องมีมาตรการเรื่องการดูแลพื้นที่ไม่ให้รบกวนคนที่อาศัยอยู่ละแวกที่จะโซนนิ่งด้วย เช่น ต้องมีการจัดเก็บขยะกลางคืน  มีมาตรการอะไรไม่ให้คนออกมารวมกลุ่มกันนอกร้าน  หากแขกจะสูบบุหรี่ก็ต้องมีพื้นที่ไม่ให้ไปรบกวน ประเด็นสำคัญคือเรื่องเสียง ถ้าไปดูอย่างลอนดอนหรือเบอร์ลิน การอนุญาตเปิด ท้องถิ่นต้องดูเรื่องผนังเก็บเสียงในร้าน  และต้องดูแลเรื่องการอำนวยความสะดวกอย่างการจราจร หรือความปลอดภัย อย่างเรื่องเสาไฟหรือกล้องวงจรปิดเพิ่ม เรื่องการพูดคุยต้องมีตัวกลาง ที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่อาจต้องมีคณะทำงานโดยตรง ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องไปดูปัญหาแต่ละโซนและมีมาตรการที่เหมาะสม”

เรื่องสตรีทฟู้ดกลางคืนของกรุงเทพฯ ก็เป็นเสน่ห์หนึ่ง อย่างตลาดรถไฟรัชดา พรพรหมมองว่า การจัดระเบียบเพื่อสุขอนามัยและเอื้อผู้ค้าก็จำเป็น “อย่างในสิงคโปร์ มี Hawker center  เป็นย่านสตรีทฟู้ด เราอาจเพิ่มโอกาสโดยหาพื้นที่ใกล้ที่ท่องเที่ยว จราจรสะดวก ดูแลสุขอนามัยได้ มาทำตลาดนัดกลางคืน เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วน  และยังมีชีวิตกลางคืนอีกรูปแบบหนึ่งคือการออกมาทำงานนอกบ้านกลางคืน อย่างคนทำงานหลายๆ คนให้เวิร์คฟอร์มโฮมบ่อย ๆ ก็เบื่อ เขาก็อยากได้พื้นที่ทำงานอื่นตอนกลางคืนบ้าง เป็น Co-working space  กทม.น่าจะสนับสนุนพื้นที่ตรงนี้ด้วย อย่างห้องสมุดต่างๆ ในแต่ละเขต หรือเป็นพื้นที่ใหญ่ในย่านคนเยอะ อย่างหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่เคยเป็นธนาคารกรุงเทพสาขาสะพานผ่านฟ้า หรือมิวเซียมสยาม ก็เป็นทางเลือกได้สำหรับเป็น Co-working space 24 ชั่วโมง”               

หลังจากนี้ พรพรหมก็ยังเป็นหนึ่งในฝ่ายทีมงานและนโยบายของชัชชาติต่อไป และเขาหวังว่า นโยบายที่เสนอไปจะสามารถทำได้จริง แต่เมื่อถามถึงอนาคตทางการเมืองว่า เขาสนใจจะกลับมาเล่นการเมืองระดับชาติหรือไม่ คำตอบคือการปฏิเสธว่า “ขณะนี้ยังไม่คิดครับ เพราะผมกำลังสนใจงานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก อยากทำงานนี้ต่อ” 

………………………………………………………

แชร์กับเพื่อน

  • Facebook iconFacebook
  • Twitter iconTwitter
  • LINE iconLine

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

22 พฤษภาคม 2565

“ชัชชาติ” ขอบคุณทุกคะแนน ย้ำยึดประโยชน์ ปชช. ระบุเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติความขัดแย้ง และเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือ

อ่านต่อ
22 พฤษภาคม 2565

พรรคเพื่อไทย แถลงขอบคุณชาวคนกรุงเทพฯ ไว้วางใจเลือก “ส.ก.เพื่อไทย” 

อ่านต่อ
22 พฤษภาคม 2565

“สกลธี” น้อมรับผลคะแนน เลือกตั้ง กรณี “ชัชชาติ” คะแนนนำไม่เหนือความคาดหมาย หวังพัฒนาเมืองตามรับปากคนกรุง ส่วนอนาคตจ่อลุยการเมืองระดับชาติต่อ

อ่านต่อ
22 พฤษภาคม 2565

“วิโรจน์” ขอบคุณทุกคะแนน ยัน ส.ก.พรรคก้าวไกล พร้อมทำงานร่วมกับผู้ว่าฯ กทม. ที่ทำงานเพื่อประชาชน เชื่อคนทั้งประเทศ ต้องการเมืองที่คนเท่ากัน

อ่านต่อ
22 พฤษภาคม 2565

พล.ต.อ.อัศวิน ยอมรับผลการเลือกตั้ง ฝากงานผู้ว่าฯกทม.คนใหม่

อ่านต่อ
22 พฤษภาคม 2565

สุชัชวีร์ โทรยินดี ชัชชาติ ชนะผู้ว่า กทม.

อ่านต่อ
Facebook
Youtube
Line
บริษัทบลูสกายแชนแนล
  • 2170 อาคารกรุงเทพทาวเวอร์ ชั้น 8
    แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง
    กรุงเทพมหานคร 10310
  • 02-308-0020
line-logo-100
Copyright © 2021